กายนี้เป็นธรรมะใช่ไหมครับ
ผู้ฟัง แล้วแข็งที่ปรากฏนี้ แข็งนี้เรียกว่า “กาย” ใช่ไหมครับ
อ. ปรากฏที่ไหนล่ะคะ ปรากฏที่รูป ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น ก่อนฟังธรรมมีความเห็นผิด ยึดถือรูปว่าเป็น “กาย” แต่เมื่อมีปัญญาแล้วก็รู้ว่า กายไม่มี มีแต่รูปแต่ละลักษณะ ซึ่งปรากฏ แล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง แต่ในนี้เขียนว่า เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง
อ. ตามความเป็นจริงว่า เป็นรูปที่ปรากฏเมื่อกระทบกายปสาท จึงปรากฏได้
ผู้ฟัง ความหมายก็คือ รูปที่ปรากฏ
อ. ที่เคยมีทั้งหมดนี้ ไม่มีจริง
ผู้ฟัง แล้วการพิจารณาอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ ทั้งตา กาย ใจ ทั้ง ๖ ทวารนี้ แล้วมี ความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น ผลสุดท้ายแล้ว ก็จะกลายเป็นสิ่งที่รู้ กายนี้ เป็นธรรมใช่ไหมครับ
อ. ทั้งหมดเป็นธรรมะค่ะ
ผู้ฟัง ถึงมี เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง ตอนข้างท้ายนี้ ก่อนอื่นเราต้องรู้กายคือ รูป ก่อนพอรู้เสร็จแล้วที่รู้นั่นคือ ธรรมอย่างนี้ใช่ไหมครับ
อ. ต้องมีความเข้าใจถูกในขั้นฟัง และขั้นฟังนี้ ก็ต้องตรงเปลี่ยนไม่ได้เลย แม้แต่คำว่าธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปรู้ตอนโน้น ตอนนี้ แต่แม้ขณะที่ฟังนี้ ต้องเข้าใจว่าธรรมคือ สิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด ที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ละอย่างปรากฎได้แต่ละทาง ก็สอดคล้องกับขณะที่กำลังรู้กาย ว่าจะต้องมีลักษณะของธรรม ที่ปรากฏที่กาย
จาก การสนทนา ... โกสลสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 382
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๐
การที่จะดับความเห็นผิด ยึดถือกายว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราได้ ก็ต่อเมื่อ รู้ปรุโปร่งซึ่งความแยกของธาตุต่างๆ เพียงแข็งนิดเดียว ลืมอย่างอื่นทั้งหมด นี่คือการที่จะละคลายอัตตสัญญา คือ ไม่ทรงจำอะไรไว้เลย นอกจากพิจารณาลักษณะของแข็ง จนอย่างอื่นไม่ปรากฏในที่นั้นเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะประจักษ์ความหมายที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะไม่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ในแข็งเล็กน้อย ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ส่วนแข็งเล็กนิดเดียวที่ปรากฏนั้น จึงไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะของแข็ง ซึ่งเกิดดับด้วยในขณะนั้น