พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ทีปสูตร อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38051
อ่าน  358

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 223

๘. ทีปสูตร

อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 223

๘. ทีปสูตร

อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ

[๑๓๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

[๑๓๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาโดยความเห็นสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

[๑๓๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก จักษุไม่ลำบาก และจิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น.

[๑๓๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า แม้กายของเราไม่พึงลำบาก จักษุของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 224

[๑๓๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงสละความระลึกและความดำริของเราที่อาศัยเรือนนั้นเสีย ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๒]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๓]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๔]... ถ้าแม้ภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งไม่ปฏิกูลและในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๕]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๖]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเว้นสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๗]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงสงัดจากกาม สงัดจากกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๘]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแก่สมาธิอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๙]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 225

ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๐]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๑]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๒]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๓]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรน้อยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๔]... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 226

สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิตเบื้องหน้าแต่กายแตก.

[๑๓๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงลุกโพลงได้ ก็เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิตเบื้องหน้าแต่กายแตก.

จบทีปสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 227

อรรถกถาทีปสูตร

ทีปสูตรที่ ๘.

คำว่า เนว เม กาโยปิ กิลมติ น จกฺขูนิ ความว่า โดยทั่วไป เมื่อกำลังทำงานในกัมมัฏฐานอย่างอื่น กายย่อมเหน็ดเหนื่อยบ้าง จักษุก็ย่อมลำบากบ้าง.

จริงอยู่ เมื่อกำลังทำงานในธาตุกัมมัฏฐาน กายย่อมลำบาก เป็นเหมือนถึงอาการจับใส่ในเครื่องยนต์แล้วเบียดเบียน.

เมื่อกำลังทำงานในกสิณกัมมัฏฐานอยู่ จักษุก็กลอกไปมา ย่อมเหนื่อย เป็นเหมือนถึงอาการทะลักตกลงไป.

แต่เมื่อกำลังทำงานในกัมมัฏฐานนี้ กายก็ไม่เหนื่อยเลย จักษุทั้งสองข้างก็ไม่ลำบากด้วย ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.

ถามว่า ทำไม ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า รูปสัญญาทั้งหมด เราจะเพิกกสิณในอานาปานะ (ลมหายใจออกเข้า) ได้หรือ.

ตอบว่า ได้.

สำหรับพระจูฬาภยเถระผู้ชำนาญไตรปิฎก กล่าวว่า เพราะเหตุที่นิมิตของอานาปานะย่อมปรากฏเป็นเหมือนแถวแก้วมุกดาในรูปดาว ฉะนั้น ในอานาปานะนั้น เราจึงเพิกเอากสิณออกได้.

พระจูฬนาคเถระผู้ทรงไตรปิฎก กล่าวค้านว่า ไม่ได้เลย. อย่าเลย ขอรับ แล้วทำไม เราจึงจะถือเอาชนิดอันมีฤทธิ์ของพระอริยะเป็นต้นนี้ได้เล่า.

เพื่อชี้ถึงอานิสงส์ คือว่า ภิกษุผู้ต้องการ ฤทธิ์ที่เป็นอริยะก็ดี รูปาวจรฌานสี่ก็ดี อรูปสมาบัติสี่ก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี ต้องทำความสนใจสมาธิที่เกี่ยวกับความระลึกอานาปานนี้ให้ดี.

เหมือนเมื่อได้กรุงแล้ว ของสิ่งใดที่ต้องใช้ความขยันจึงจะได้มาในทิศทั้งสี่ ของสิ่งนั้น ก็ย่อมเข้าสู่กรุงโดยประตูทั้งสี่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าได้ทั้งชนบทด้วย นี้แลเป็นอานิสงส์ของกรุงนั่นเทียว ฉันใด ชนิดมีอริยฤทธิ์เป็นต้นนี้ ก็ฉันนั้น เป็นอานิสงส์

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 228

ของอานาปานัสสติสมาธิภาวนา เมื่อได้เจริญอานาปานัสสติสมาธิโดยอาการทั้งหมดแล้ว สิ่งทั้งหมดนี้ ก็ย่อมสำเร็จแก่พระโยคี ฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้เพื่อชี้ถึงอานิสงส์.

ทำไมในคำว่า สุขญฺเจ นี้ (ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา) ท่านจึงกล่าวว่า โส (แปลว่า เขาผู้นั้น... ).

เพราะในวาระนี้ คำว่า ภิกษุ มิได้มา.

จบอรรถกถาทีปสูตรที่ ๘