พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เวสาลีสูตร ว่าด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38052
อ่าน  481

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 228

๙. เวสาลีสูตร

ว่าด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 228

๙. เวสาลีสูตร

ว่าด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน

[๑๓๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว.

[๑๓๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะ ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภะโดยอเนกปริยาย จึงขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะ อันเกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นอึดอัดระอาเกลียดกายนี้ ย่อมแสวงหาศาสตรา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 229

สำหรับปลงชีวิต สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูปบ้าง ย่อมนำศาสตรามาโดยวันเดียวกัน.

[๑๓๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นโดยล่วงกึ่งเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุไรหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนเบาบางไป ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะ ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภะ แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะ ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภะ โดยอเนกปริยาย จึงขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะอันเกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนกอยู่ อึดอัดระอา เกลียดกายนี้ ย่อมแสวงหาศาสตราสำหรับปลงชีวิต สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูปบ้าง ย่อมนำศาสตรามาโดยวันเดียวกัน ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกปริยาย โดยวิธีที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในอรหัตตผลเถิด.

[๑๓๕๑] พ. ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้น ภิกษุมีประมาณเท่าใดที่อาศัยกรุงเวสาลีอยู่ เธอจงให้ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยังภิกษุทั้งหมดที่อาศัยกรุงเวสาลีอยู่ ให้มาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด.

[๑๓๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินี้แล อันภิกษุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 230

เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขและยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน.

[๑๓๕๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนธุลีและละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ในสมัยมิใช่กาล ย่อมยังธุลีและละอองนั้นให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน ฉันใด สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขและยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๓๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร เป็นสภาพสงบ... ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ฯลฯ ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นสภาพสงบ... ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน.

จบเวสาลีสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 231

อรรถกถาเวสาลีสูตร

เวสาลีสูตรที่ ๙.

คำว่า ใกล้กรุงเวสาลี คือ ใกล้กรุงที่มีโวหารอันเป็นไปด้วยอำนาจเพศหญิง ซึ่งมีชื่ออย่างนั้น.

จริงอย่างนั้น กรุงนั้นเรียกว่า เวสาลี เพราะเป็นนครที่กว้างขวาง ด้วยการขยายกำแพงล้อมรอบถึง ๓ ครั้ง.

และกรุงแม้นี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูนั่นเอง ก็พึงทราบว่า ได้บรรลุความไพบูลย์ด้วยอาการทั้งปวง เมื่อท่านพระอานนท์ได้ระบุโคจรคามอย่างนี้เสร็จแล้ว ก็ได้กล่าวถึงที่สำหรับอยู่ว่า ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน.

ในคำเหล่านั้น ป่าอย่างใหญ่มีเขตกำหนด ไม่มีใครปลูกไว้ เกิดขึ้นเอง ชื่อ มหาวัน (ป่าใหญ่).

ส่วนป่าใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นป่าที่มีเขตกำหนดติดเป็นพืดเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไปจนติดทะเลหลวง.

ป่าใหญ่นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ เป็นป่าใหญ่ที่ยังมีขอบเขต ฉะนั้นจึงเรียกว่า มหาวัน.

ส่วนศาลาเรือนยอด คือ ศาลาที่ได้สร้างเป็นเรือนมียอดไว้ภายในสวนที่อาศัยป่าใหญ่สร้างไว้ ด้วยหลังคากลมดุจหงส์. สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พึงทราบว่าเป็นพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า.

คำว่า ทรงแสดงอสุภกถาโดยอเนกปริยาย คือ ทรงแสดงถ้อยคำที่ทำให้หมดความพอใจในกาย (๑) เป็นไปเพื่อชี้ให้เห็นชัดถึงอาการที่ไม่งาม ด้วยเหตุมิใช่น้อย เช่น มีในร่างกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน ฯลฯ น้ำมูตร ดังนี้.

คำนี้ทรงอธิบายไว้อย่างไร.

(ทรงอธิบายไว้ว่า) ภิกษุทั้งหลาย ในซากศพขนาดวาหนึ่งนี้ ใครๆ เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ย่อมไม่เห็นของสะอาดอะไรๆ แม้แต่


(๑) กัมพุช ที่เป็นเหตุให้ติดกายได้เด็ดขาด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 232

น้อยหนึ่ง ที่จะเป็นมุกดา มณี ไพฑูรย์ กฤษณา จันทน์ หญ้าฝรั่น การบูร หรือผงเครื่องอบเป็นต้นเลย ที่แท้จะเห็นแต่ของที่สกปรก มีประการต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น ซึ่งแสนจะเหม็น มองดูน่าเกลียด และเสียศักดิ์ศรีทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าไปทำความพอใจ หรือความรักใคร่ในร่างกายนี้เลย.

ชื่อว่าผมทั้งหลาย ที่เกิดบนศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนที่สูงสุดแล้ว ก็ยังไม่งามเป็นของสกปรก และน่าสะอิดสะเอียนอยู่นั่นเอง.

และความไม่สวยไม่สะอาดน่าสะอิดสะเอียนของผมทั้งหลายนั้น พึงทราบโดยอาการ ๕ อย่าง คือ โดยสี โดยสัณฐาน โดยกลิ่น โดยที่อาศัย และโดยโอกาส.

แม้ขนเป็นต้น ก็เป็นอย่างนี้.

นี้เป็นความสังเขปในสูตรนี้ ส่วนความพิสดาร พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุภกถาโดยอเนกปริยาย จำแนกเป็นส่วนละ ๕ อย่าง.

คำว่า ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะ คือ เมื่อทรงวางแม่บทแห่งอสุภะด้วยอำนาจศพที่ขึ้นอืดเป็นต้นแล้ว ก็ทรงจำแนกแจกขยายศพนั้นด้วยรายละเอียด (บทภาชนีย์) ตรัสถึงคุณของอสุภะ.

คำว่า ตรัสสรรเสริญคุณของการเจริญอสุภะ คือ การอบรม การเจริญจิต ที่ถือเอาอาการอันไม่งามในผมเป็นต้น หรือในวัตถุทั้งภายในและภายนอก มีศพที่ขึ้นอืดเป็นต้น แล้วเป็นไปนี้.

เมื่อจะทรงชี้ถึงอานิสงส์แห่งการเจริญอสุภะนั้น จึงตรัสถึงคุณ คือ ระบุถึงคุณ.

คือ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ประกอบอย่างยิ่งในการเจริญอสุภะ ในผมเป็นต้น หรือในวัตถุมีศพที่ขึ้นอืดเป็นต้น ย่อมได้เฉพาะซึ่งปฐมฌานที่ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีความงาม ๓ อย่าง สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ อย่าง เธออาศัยหีบคือจิต กล่าวคือปฐมฌานนั้น เจริญวิปัสสนาแล้ว ย่อมสำเร็จความเป็นอรหันต์อันเป็นประโยชน์ที่สูงสุด ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 233

คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ความว่า ภิกษุทั้งหลาย เราต้องการพักผ่อน คือหลีกเร้น ได้แก่ อยู่เพียงคนเดียวตลอดกึ่งเดือนหนึ่ง.

คำว่า ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว คือ ภิกษุใด ไม่กระทำคำพูดที่ควรแก่ตน นำบิณฑบาตที่เขาจัดไว้ในตระกูลที่มีศรัทธามาเพื่อประโยชน์แก่เราแล้วน้อมเข้าไปให้ นอกจากภิกษุผู้นำเอาบิณฑบาตมาให้รูปเดียวแล้ว ใครอื่น ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรือคฤหัสถ์ไม่พึงเข้าไปหาเรา.

ทำไมจึงตรัสอย่างนั้นเล่า.

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาล พวกพรานเนื้อ ๕๐๐ คน เอาท่อนไม้และบ่วง (๑) เป็นต้น ขนาดใหญ่ๆ มาล้อมป่า ต่างดีอกดีใจ เลี้ยงชีวิตด้วยการทำการฆ่าเนื้อและนกตลอดชีวิตมาด้วยกันทีเดียว (ตายแล้ว) ก็เกิดในนรก. พวกเขาไหม้ในนรกนั้นแล้ว ด้วยกุศลกรรมบางอย่างที่ทำไว้เมื่อก่อนนั่นแหละ ก็มาเกิดในหมู่มนุษย์ ด้วยอำนาจอุปนิสัยอันงาม ทุกคนก็ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะอกุศลกรรมเดิมนั้น ของท่านเหล่านั้น อปราปรเจตนาที่ให้ผลยังไม่เสร็จ ก็ได้ทำโอกาสเพื่อเข้าไปตัดชีวิต ด้วยความพยายามของตัวเอง และด้วยความพยายามของคนอื่น ในภายในกึ่งเดือนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นเหตุการณ์นั้น.

อนึ่ง ขึ้นชื่อว่า วิบากของกรรมแล้ว ไม่มีใครจะสามารถป้องกันได้ ก็ในภิกษุเหล่านั้น ปุถุชนก็มี พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพก็มี.

ในท่านเหล่านั้น ที่เป็นพระขีณาสพ ไม่มีการสืบต่อภพชาติ อริยสาวกนอกนี้ มีคติที่แน่นอนเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. (๒)

คติของพวกปุถุชนไม่แน่นอน.

อย่างไร.


(๑) กัมพุช. ก้อนดิน... เป็นต้น.

(๒) พม่า มีคติที่แน่นอน มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 234

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ เพราะความพอใจรักใคร่ในอัตภาพ กลัวมรณภัยแล้ว จะไม่ศึกษาเพื่อชำระคติ เอาเถิดเราจะแสดงอสุภกถาเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นละความพอใจรักใคร่ พวกเธอ เมื่อได้ฟังอสุภกถานั้นแล้ว. เพราะความที่ปราศจากความพอใจรักใคร่ในอัตภาพแล้ว จะทำการชำระคติแล้วจะถือเอาปฏิสนธิในสวรรค์ เมื่อเป็นอย่างนี้ การบวชในสำนักเราของพวกเธอก็จะมีประโยชน์ เพราะเหตุนั้น เพื่ออนุเคราะห์พวกเธอ จึงทรงแสดงอสุภกถา ด้วยทรงมุ่งกัมมัฏฐานเป็นสำคัญ มิใช่ทรงมุ่งจะพรรณนาคุณแห่งความตาย.

ครั้นทรงแสดงแล้ว พระองค์ก็ทรงพระดำริอย่างนี้ว่า หากกึ่งเดือนนี้ พวกภิกษุจะเห็นเรา ก็จะพากันมาบอกว่า วันนี้มีภิกษุ ๑ รูป มรณภาพแล้ว วันนี้ ๒ รูป ฯลฯ วันนี้ ๑๐ รูป มรณภาพแล้ว ก็ผลของกรรมนี้ จะเป็นเราหรือคนอื่นก็ตาม ไม่สามารถจะห้ามได้ เรานั้นถึงได้ยินกรรมวิบากนั้น ก็จะทำอะไรได้. ประโยชน์อะไรของเราด้วยการฟังเรื่องฉิบหายเรื่องพินาศด้วยเล่า เอาล่ะ เราจะหลบไม่ให้ภิกษุทั้งหลายเห็น เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสอย่างนั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปให้เพียงรูปเดียว.

แต่ท่านเหล่าอื่นอีก กล่าวว่า หลีกเร้น (พักผ่อน) อย่างนั้น ก็เพื่อเว้นจากการติเตียนของคนอื่น.

เขาว่า คนเหล่าอื่นจะพากันติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้นี้ปฏิญาณอยู่ว่า เราเป็นสัพพัญญู เป็นผู้ยังพระธรรมจักรอันประเสริฐ คือ พระสัทธรรมให้เป็นไป ไม่สามารถแม้แต่ห้ามปรามพวกสาวกของตนที่กำลังฆ่าตัวเองได้ จะสามารถห้ามปรามคนอื่นได้หรือ.

ในกลุ่มนั้นที่เป็นบัณฑิตจะกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จตามประกอบการหลีกเร้น (พักผ่อน) ย่อมไม่ทรงทราบความเป็นไปนี้ แม้ใครๆ ที่เป็นผู้กราบทูลให้ทรงทราบก็ไม่มี หากทรงทราบจะพึงทรงห้ามปรามเป็นแน่ แต่นี้ แค่เป็นความต้อง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 235

การเท่านั้น เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกเท่านั้นในเรื่องนี้.

คำว่า อสฺสุธา ในบทว่า นาสฺสุธา นี้ เป็นคำลงแทรกเข้ามาในอรรถเพียงทำให้เต็มบท หรือในอรรถห้ามข้อความอย่างอื่น ความก็คือ ไม่มีใครๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย.

ที่ชื่อว่า เกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนก ก็เพราะการขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะนั้นเกลื่อนกล่นด้วยเหตุเป็นอเนก มีสีและสัณฐานเป็นต้น.

มีคำอธิบายว่า ระคนปนเปไปด้วยอาการเป็นอเนก คือ เจือคละไปด้วยการณ์เป็นอเนก.

นั้นคืออะไร คือ การขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะ.

คำว่า ขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะอันเกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนกนั้นอยู่ คือ เป็นผู้ประกอบแล้วประกอบเล่าอยู่.

คำว่า อึดอัด คือ เป็นทุกข์ เพราะกายนั้น.

คำว่า ระอา คือ รู้สึกละอายอยู่.

คำว่า เกลียด คือ ยังความเกลียดชังให้เกิดขึ้นอยู่.

คำว่า แสวงหาศาสตราสำหรับปลงชีวิต คือ แสวงหาศัสตราเครื่องนำเอาชีวิตไป ภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่แต่แสวงหาศัสตรามาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปลงตนจากชีวิตด้วย ก็แลพวกภิกษุได้เข้าไปหาแม้นายมิคลัณฑิกผู้แต่งตัวคล้ายสมณะแล้วพูดว่า คุณ! ดีละขอคุณช่วยปลงชีวิตพวกอาตมาทีเถิด.

ก็ในที่นี้ พวกอริยะไม่ได้ทำปาณาติบาตเลย ไม่ได้ชักชวน ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปตามด้วย. แต่ปุถุชนได้ทำทุกอย่าง.

คำว่า เสด็จออกจากการหลีกเร้น (พักผ่อน) คือ เมื่อได้ทรงทราบความที่พวกภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว ก็ทรงออกจากความอยู่ผู้เดียวนั้น แม้ทรงทราบอยู่ ก็เหมือนไม่ทรงทราบ เพื่อให้ถ้อยคำตั้งขึ้นพร้อม จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุไรหนอ ภิกษุสงฆ์ จึงดูเหมือนเบาบางไป.

ความว่า อานนท์ ก่อนแต่นี้ พวกภิกษุเป็นอันมากพากันมาสู่ที่บำรุงด้วยกัน ถือเอาอุเทศ และการสอบถามอาราม ดูคล้ายกะว่าโชติช่วงเป็นอันเดียวกัน แต่บัดนี้ โดยล่วงไปแห่งเวลา

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 236

แค่ครึ่งเดือน ภิกษุสงฆ์ คล้ายกับมีน้อยลง คือเกิดเป็นเหมือนเบาบาง อ่อนน้อย ประปรายไป เหตุอะไรหรือหนอแล หรือว่าพวกภิกษุต่างพากันหลีกไปในทิศทั้งหลาย.

ทีนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่เข้าใจถึงความสิ้นชีวิตของภิกษุเหล่านั้น เพราะผลกรรม แต่เข้าใจว่าเพราะการตามประกอบในอสุภกัมมัฏฐานเป็นปัจจัย จึงกราบทูลคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น.

เมื่อจะทูลขอกัมมัฏฐานอย่างอื่น เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงกราบทูลคำเป็นต้นว่า ขอประทานพระวโรกาสพระผู้มีพระภาคเจ้า ใจความของคำกราบทูลขอนั้น (พึงทราบดังต่อไปนี้).

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงโปรดตรัสบอกการณ์อย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงดำรงอยู่ในพระอรหัตเถิด มีอธิบายว่า กัมมัฏฐานที่ลงสู่พระนิพพานได้ยังมีมาก ได้แก่ ประเภทอนุสสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ จตุธาตุววัตถานะ พรหมวิหารและอานาปานสติ แม้เหล่าอื่น เหมือนท่าสำหรับลงสู่ทะเลหลวง.

ในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปลอบโยนพวกภิกษุแล้ว โปรดตรัสบอกกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่งเถิด.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทรงทำอย่างนั้น เมื่อจะทรงส่งพระเถระไป จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ถ้าอย่างนั้น อานนท์.

ในคำเหล่านั้น คำว่า อาศัยกรุงเวสาลี ความว่า พวกภิกษุมีประมาณเท่าใดที่เข้าไปอาศัย (๑) กรุงเวสาลี อยู่ห่างออกไปหนึ่งคาวุตบ้าง กึ่งโยชน์บ้าง โดยรอบ เธอจงให้พวกภิกษุทั้งหมดนั้นประชุมกัน.

คำว่า ให้ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา คือ ที่ซึ่งพอจะไปด้วยตนเองก็ไปเอง ส่งภิกษุ


(๑) สี. นิสฺสาย อาศัย.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 237

หนุ่มๆ ไปในที่อื่น ครู่เดียวเท่านั้น ก็ทำพวกภิกษุมาไม่เหลือ ให้ประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา.

ต่อไปนี้ เป็นคำอธิบายในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทราบกาลอันสมควรในบัดนี้เถิด นี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว นี้เป็นในเวลาแห่งเทศนา (๑) เพื่อทรงกระทำธรรมกถา บัดนี้ ขอพระองค์ทรงทราบเวลาเพื่อสิ่งใด พึงทรงกระทำสิ่งนั้นเถิด.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินี้แล ครั้นตรัสเรียกมาแล้ว เมื่อจะทรงบอกปริยายอื่น จากอสุภกัมมัฏฐานที่ได้ทรงบอกมาแล้วเมื่อก่อน เพื่อการบรรลุพระอรหัตของพวกภิกษุ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อานาปานสติสมาธิ.

ในคำเหล่านั้น คำว่า อานาปานสฺสติสมาธิ ได้แก่ การตั้งใจมั่นที่ประกอบพร้อมกับความระลึกที่กำหนดถือเอาลมหายใจออกและหายใจเข้า หรือความตั้งใจมั่นในการระลึกถึงลมหายใจออกและหายใจเข้า เป็นสมาธิที่มีการระลึกถึงลมหายใจออกและหายใจเข้าเป็นอารมณ์.

คำว่า เจริญแล้ว ได้แก่ อันให้เกิดขึ้นแล้ว หรืออันให้เจริญแล้ว.

คำว่า กระทำให้มากแล้ว ได้แก่ อันกระทำแล้วบ่อยๆ.

คำว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ แปลว่า สงบและประณีตนั่นเทียว.

พึงทราบความแน่นอนด้วยเอวศัพท์ทั้งสองแห่ง.

ท่านอธิบายไว้อย่างไร.

อธิบายว่า ก็แลอสุภกัมมัฏฐาน สงบและประณีต ด้วยอำนาจการแทงตลอดอย่างเดียว แต่เพราะมีอารมณ์หยาบ และเพราะเป็นอารมณ์ในขณะเกิดขึ้น ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ จึงไม่สงบ ไม่ประณีต ฉันใด อานาปานสติสมาธินี้ หาเป็นฉันนั้นไม่ บางปริยายอาจไม่สงบ หรือไม่ประณีต


(๑) พม่า ไม่มีแห่งเทศนา.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 238

ก็ได้ แต่ว่า ชื่อว่าสงบ ระงับดับแล้วเพราะความที่อารมณ์สงบบ้าง ชื่อว่า ประณีต ทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม เพราะความที่องค์สงบ กล่าวคือความแทงตลอดบ้าง เพราะความที่อารมณ์ประณีตบ้าง เพราะความที่ธรรมประณีตบ้าง. เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ ดังนี้.

ก็ในคำว่า ชื่นใจ (ละเมียดละไม) เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข นี้ ชื่อว่า ชื่นใจ เพราะอานาปานสติสมาธินั้นไม่หยาบ ไม่เปรอะ ไม่ปน แยกเป็นหนึ่งได้จำเพาะตัว หมายความว่าในอานาปานสติสมาธินี้ บริกรรม หรือความสงบด้วยอุปจารไม่มี อานาปานสติสมาธินั้น สงบและประณีต ตามธรรมชาติของตัวเอง เริ่มแต่การรวบรวมจิตใน เบื้องต้นมาทีเดียว.

บางท่านว่า คำว่า ชื่นใจ คือ ไม่ต้องใส่โอชะลงไป ก็มีรสเอร็ดอร่อยได้ หวานตามธรรมชาติโดยแท้.

พึงทราบว่า อานาปานสติสมาธินี้ ชื่อว่า ชื่นใจ และชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข เพราะเป็นไปเพื่อได้รับความสุขทั้งทางกายและทางใจในขณะที่จิตใจแนบแน่นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

คำว่า ที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ คือ ที่ยังไม่ได้ข่มไว้แล้ว.

คำว่า ปาปเก คือ ลามก.

คำว่า อกุศลธรรม คือ ธรรมที่เกิดพร้อมเพราะความไม่ฉลาด.

คำว่า ให้อันตรธานสงบโดยพลัน คือ ให้หายไปได้แก่ข่มไว้ได้โดยทันทีทันใดทีเดียว.

คำว่า วูปสเมติ คือ ทำให้สงบได้โดยดี มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า อานาปานสติสมาธิที่ถึงความเจริญแห่งอริยมรรคแล้ว ชื่อว่าย่อมตัดขาด คือทำให้สงบระงับได้โดยลำดับ เพราะเป็นไปในฝ่ายแทงตลอด.

คำว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน คือ ในเดือนอาสาฬหะ.

คำว่า ธุลีและละอองที่ฟุ้งขึ้น คือ ในกึ่งเดือน (๑) ฝุ่นและละอองบนแผ่นดินที่แห้งเพราะลมและแดด


(๑) พม่า เพราะความที่อารมณ์เป็นของปฏิกูล.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 239

แตกแยกเพราะเท้าวัวและควายเป็นต้นเหยียบย่างไป ก็ฟุ้งไปเบื้องบน กลบขึ้น คือตั้งขึ้นพร้อมในอากาศ.

คำว่า ฝนใหญ่มิใช่กาล คือ ฝนที่ตั้งขึ้นปกคลุมทั่วทั้งท้องฟ้าแล้วก็ตกลงมาหมดทั้งกึ่งเดือนในข้างขึ้นเดือนอาสาฬหะ ก็ฝนนั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้ว่า ฝนมิใช่กาล เพราะเกิดขึ้นเมื่อยังไม่ถึงเวลาฝน.

คำว่า ให้อันตรธานสงบไป โดยพลัน คือ นำไปสู่ความไม่เห็น ได้แก่ ให้ชำแรกแทรกจมไปในแผ่นดินโดยทันทีทันใดทีเดียว.

คำว่า ฉันนั้นเหมือนกัน นี้เป็นคำแสดงข้อเปรียบเทียบ.

คำต่อจากนั้นไปก็มีนัยอย่างที่กล่าวแล้วแล.

จบอรรถกถาเวสาลีสูตรที่ ๙