พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. โลมสกังภิยสูตร วิหารธรรมของพระเสขะ ต่างกับของพระพุทธองค์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38055
อ่าน  404

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 251

๒. โลมสกังภิยสูตร

วิหารธรรมของพระเสขะ ต่างกับของพระพุทธองค์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 251

๒. โลมสกังภิยสูตร (๑)

วิหารธรรมของพระเสขะ ต่างกับของพระพุทธองค์

[๑๓๖๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระโลมสกังภิยะอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานาม เสด็จเข้าไปหาท่านพระโลมสกังภิยะถึงที่อยู่ ถวายนมัสการแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินั้น เป็นวิหารธรรมของพระเสขะ เป็นวิหารธรรมของพระตถาคต หรือว่าวิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง ท่านพระโลมสกังภิยะถวายพระพรว่า ดูก่อนมหาบพิตร สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินั้นแล เป็นวิหารธรรมของพระเสขะ เป็นวิหารธรรมของพระตถาคต หามิได้ วิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง.

[๑๓๗๐] ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้.

[๑๓๗๑] ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ อันภิกษุเหล่านั้นละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำไม่


(๑) อรรถกถา กล่าวว่า มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 252

ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ... หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันภิกษุเหล่านั้นละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา.

[๑๓๗๒] ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์พึงทราบข้อนี้ โดยปริยายที่วิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง.

[๑๓๗๓] ดูก่อนมหาบพิตร สมัยหนึ่ง พระผู้พระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักสามเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

[๑๓๗๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นโดยล่วงสามเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าจำพรรษาอยู่ด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติมาก.

[๑๓๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 253

หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า.

[๑๓๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ.

[๑๓๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ.

[๑๓๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง.

[๑๓๗๙] ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์พึงทราบข้อนี้ โดยปริยายที่วิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง.

จบโลมสกังภิยสูตรที่ ๒