พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ราชสูตร คุณธรรมของพระอริยสาวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38064
อ่าน  362

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 268

โสตาปัตติสังยุต

เวฬุทวารวรรคที่ ๑

๑. ราชสูตร

คุณธรรมของพระอริยสาวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 268

โสตาปัตติสังยุต

เวฬุทวารวรรคที่ ๑

๑. ราชสูตร

คุณธรรมของพระอริยสาวก

[๑๔๑๑] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือ ได้เป็นสหายของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยหมู่นางอัปสร เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ณ สวนนันทวัน ในดาวดึงส์พิภพนั้น ท้าวเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๔๑๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเยียวยาอัตภาพอยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มแม้ผ้าที่เศร้าหมอง เธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 269

ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้.

[๑๔๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การได้ทวีปทั้ง ๔ กับการได้ธรรม ๔ ประการ การได้ทวีปทั้ง ๔ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของการได้ธรรม ๔ ประการ.

จบราชสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 270

โสตาปัตติสังยุตตวรรณนา

อรรถกถาราชสูตร

พึงทราบอธิบายในราชสูตรที่ ๑.

คำว่า กิญฺจาปิ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าอนุเคราะห์และติเตียน.

จริงอยู่ พระศาสดาเมื่อจะทรงอนุเคราะห์ (เมื่อถือเอา) ราชสมบัติ คือความเป็นอิสราธิบดีแห่งมหาทวีปทั้ง ๔ และเมื่อจะทรงติเตียนความเป็น คือการละอบายทั้ง ๔ ยังไม่ได้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ... แม้ก็จริง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า แห่งทวีปทั้ง ๔ ได้แก่ ทวีปใหญ่ ๔ มีทวีปพันหนึ่งเป็นบริวาร.

บทว่า อิสฺสริยาธิปจฺจํ ความว่า ความเป็นอิสระ ความเป็นอธิบดี ชื่อว่า ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระ ความเป็นใหญ่ ชื่อว่า ความเป็นอิสราธิบดี เพราะอรรถว่า ไม่มีความแตกต่างกันในราชสมบัติ. (๑)

บทว่า กาเรตฺวา ได้แก่ ให้ราชสมบัติเห็นปานนี้เป็นไป.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก... แม้ก็จริง.

ผ้ามีชายหามิได้ ชื่อว่า นนฺตกานิ (ผ้าที่เศร้าหมอง) ในบทนั้น. ก็ผ้าสาฎกแม้ ๑๓ ศอก ตั้งแต่ตัดชายผ้าออก ถึงการนับว่า ผ้าไม่มีชายเหมือนกัน.

บทว่า ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ได้แก่ ความเลื่อมใสอันไม่คลอนแคลน.

บทว่า ก็ความเลื่อมใสนี้นั้น ความว่า ความเลื่อมใสอย่างหนึ่งมีหลายอย่างเทียว ก็ความเลื่อมใสที่มาถึงแล้วโดยมรรคนั้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลังในวัตถุเหล่าใด ด้วยอำนาจวัตถุเหล่านั้น ความเลื่อมใสนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ ๓ อย่าง โดยนัยเป็นต้นว่า ด้วยความเลื่อมในอันไม่หวั่นไหวในพระ-


(๑) ไม่มีการช่วงชิงหรือโค่นล้มราชสมบัติหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 271

พุทธเจ้า. เพราะความเลื่อมใสอย่างเดียว เหตุนั้น ความเลื่อมใสนั้น ย่อมเป็นเหตุให้น้อมไปต่างๆ กัน.

จริงอยู่ อริยสาวก ย่อมมีความเลื่อมใส ความรักและความเคารพในพระพุทธเจ้าเท่านั้นมาก ในพระธรรมหรือในพระสงฆ์ไม่มาก หรือย่อมมีความเลื่อมใสในพระธรรมเท่านั้นมาก ในพระพุทธเจ้า หรือในพระสงฆ์ไม่มาก หรือย่อมมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์เท่านั้นมาก ในพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมไม่มาก เพราะเหตุนั้น อริยสาวกมีความเลื่อมใส ความรักและความเคารพ (ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) เพียงอย่างเดียวก็หาไม่.

คำเป็นต้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ดังนี้ ท่านให้พิสดารแล้ว ในปกรณ์วิเสส ชื่อว่า วิสุทธิมรรคนั่นแล.

บทว่า ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ความว่า ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ใคร่แล้ว คือ เป็นที่ชอบใจเทียว เพราะว่า พระอริยบุคคลทั้งหลาย ไปแล้วระหว่างภพก็ไม่ทำให้ศีลห้ากำเริบ ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ หมายเอาศีลห้าเหล่านั้น แม้ของพระอริยบุคคลเหล่านั้น.

คำว่า ไม่ขาด เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เช่นเดียวกันเทียว.

ส่วนหนึ่งขาดที่ริม ท่านเรียกว่า ขาดตามลำดับ.

บทว่า ขาดทะลุในท่ามกลาง ความว่า ส่วนเหล่านั้นมีชนิดต่างกันในที่หนึ่ง.

บทว่า ด่าง ได้แก่ มีลวดลายต่างๆ.

บทว่า พร้อย ความว่า ศีลที่แตกในข้อต้น หรือที่สุดไปตามลำดับอย่างนี้ ชื่อว่า ขาด ที่แตกในท่ามกลาง ชื่อว่า ทะลุ ชื่อว่า ด่าง เพราะขาดไปตามลำดับ ๒ - ๓ สิกขาบท ในที่ใดที่หนึ่ง ที่ทำลายระหว่างสิกขาบทหนึ่ง ชื่อว่า พร้อย พึงทราบความที่ศีลไม่ขาดเป็นต้น เพราะไม่มีโทษเหล่านั้น.

บทว่า เป็นไทย ได้แก่ โดยกระทำความเป็นไท.

บทว่า วิญญูชนสรรเสริญ ความว่า อันวิญญูชนทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 272

บทว่า อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว ความว่า อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาจลูบคลำอย่างนี้ว่า ความตรึกชื่อนี้ท่านทำแล้ว ความตรึกนี้ท่านทำแล้ว.

บทว่า เป็นไปเพื่อสมาธิ ความว่า สามารถเพื่อให้อัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิเป็นไป.

จบอรรถกถาราชสูตรที่ ๑