พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สหัสสสูตร องค์คุณของพระโสดาบัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38079
อ่าน  367

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 306

ราชการามวรรคที่ ๒

๑. สหัสสสูตร

องค์คุณของพระโสดาบัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 306

ราชการามวรรคที่ ๒

๑. สหัสสสูตร

องค์คุณของพระโสดาบัน

[๑๔๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ราชการาม กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุณีเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุณีทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จบสหัสสสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 307

ราชการามวรรควรรณนา

อรรถกถาสหัสสสูตร

พึงทราบอธิบายในสหัสสสูตรที่ ๑ แห่งราชการามวรรคที่ ๒.

คำว่า ราชการาม ได้แก่ อารามที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะพระราชาทรงให้สร้าง.

ถามว่า พระราชาองค์ไหน.

ตอบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล.

ทราบมาว่า ในปฐมโพธิกาล พวกเดียรถีย์เห็นพระศาสดา ที่ทรงถึงความเลิศด้วยยศและลาภ พากันคิดแล้วว่า พระสมณโคดมถึงความเลิศด้วยลาภและยศ ก็ศีลหรือสมาธิอย่างอื่นไรๆ ของพระสมณโคดมนั้นไม่มี พระสมณโคดมนั้นถึงความเลิศด้วยลาภและยศอย่างนี้ เป็นเหมือนถือเอาพื้นแผ่นดินที่สมบูรณ์เป็นเลิศ ถ้าแม้พวกเราอาจให้สร้างวัดใกล้พระเชตวันได้ ก็จะพึงเป็นผู้ถึงความเลิศด้วยลาภและยศ. เดียรถีย์เหล่านั้น จึงชักชวนอุปัฏฐากของตนได้ประมาณแสนคน ได้กหาปณะ แล้วได้พาอุปัฏฐากเหล่านั้นไปราชสำนัก. พระราชาตรัสถามว่า นี่อะไรกัน. ทูลว่า พวกข้าพระองค์จะสร้างวัดของเดียรถีย์ใกล้เชตวัน ถ้าว่าพระสมณโคดม หรือพวกสาวกของพระสมณโคดมจักมาห้ามไซร้ ขอพระองค์อย่าให้เพื่อจะห้ามเลย แล้วได้ถวายสินบน. พระราชารับสินบนแล้วตรัสว่า พวกท่านจงไปสร้างเถิด พวกเดียรถีย์นั้นจึงให้พวกอุปัฏฐากของตนขนทัพพสัมภาระมา แล้วทำการยกเสาเป็นต้น เปล่งเสียงอึกทึกลือลั่น ทำโกลาหลเป็นอย่างเดียวกัน. พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎีประทับที่หน้ามุข ตรัสถามแล้วว่า อานนท์ ก็คนพวกนั้นเหล่าไหน เห็นจะเป็นพวกชาวประมง เปล่งเสียงอึกทึกลือลั่น แย่งปลากันอยู่.

อา. พวกเดียรถีย์ สร้างวัดของเดียรถีย์ใกล้พระเชตวัน พระเจ้าข้า.

ศ. อานนท์ พวกนี้เป็นศัตรูต่อศาสนา จะทำให้อยู่ไม่เป็นสุขแก่หมู่ภิกษุ เธอจงทูลพระราชา และให้รื้อออกไป.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 308

พระเถระพร้อมด้วยหมู่ภิกษุ ได้ไปยืนที่พระทวารหลวง. ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกพระเถระมาเฝ้า พระราชามิได้เสด็จออกไป เพราะได้รับสินบนไว้แล้ว พระเถระทั้งหลายจึงไปกราบทูลพระศาสดา. พระศาสดาทรงส่งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไป. พระราชาไม่ได้พระราชทาน แม้การเฝ้าแก่พระเถระทั้งสองนั้น พระเถระเหล่านั้น จึงมากราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาไม่ได้เสด็จออกเลย.

พระศาสดาทรงพยากรณ์ในขณะนั้นทีเทียวว่า พระราชาดำรงอยู่ในราชสมบัติของตนจักไม่ได้เพื่อจะทำกาละ. วันที่สอง พระองค์นั่นเทียว มีหมู่ภิกษุเป็นบริวาร ได้เสด็จไปประทับยืนที่ประตูหลวง พระราชาทรงสดับว่า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว จึงเสด็จออกไปกราบทูลให้เสด็จเข้านิเวศน์ ให้ประทับนั่งบนสารบัลลังก์ ได้ทรงถวายข้าวต้มและของเคี้ยว พระศาสดาเสวยข้าวต้มและของเคี้ยวแล้ว ไม่ตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์ทำเหตุนี้แล้ว กะพระราชาผู้เสด็จมาประทับนั่ง ด้วยพระราชดำริว่า เราจักนั่งในสำนักของพระศาสดา จนกว่าพระกระยาหารจะเสร็จ จึงทรงดำริว่า เราจะให้พระราชานั้นยินยอมด้วยเหตุทีเดียว จึงทรงนำเหตุในอดีตนี้มาว่า มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่า การให้พวกบรรพชิตรบกันและกันไม่สมควร พระราชาทรงให้พวกฤาษีเหล่านั้นรบกันและกันแล้ว ได้จมมหาสมุทรไปพร้อมกับแว่นแคว้น. พระราชาตรัสถามว่า เมื่อไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

มหาบพิตร ในอดีต พระราชาพระนามว่า ภุรุ ในแว่นแคว้นภุรุ ครองราชสมบัติอยู่. คณะฤาษี ๒ คณะๆ ละ ๕๐๐ ไปจากเชิงภูเขาสู่ภุรุนคร เพื่อจะเสพรสเค็มและเปรี้ยว ที่ไม่ไกลพระนครมีต้นไม้อยู่สองต้น. คณะฤาษีที่มาก่อนนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง. แม้คณะฤาษีที่มาภายหลังก็ได้นั่งที่โคน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 309

ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง. พวกฤาษีได้อยู่ตามความพอใจแล้วไปที่เชิงเขาเทียว. พวกฤาษีนั้นแม้มาอีกก็ได้นั่งในที่หนึ่งแห่งโคนต้นไม้ของตน. พวกฤาษีนั้นที่มาภายหลังก็ได้นั่งที่โคนต้นไม้ของตนเหมือนกัน. เมื่อเวลาผ่านไปนาน ต้นไม้ต้นหนึ่งแห้ง (ตาย). พวกดาบสมาที่ต้นไม้แห้งนั้น คิดว่า ต้นไม้ต้นนี้ (ต้นที่ไม่แห้ง) ใหญ่ จักเพียงพอ แม้แก่พวกเรา แม้แก่ดาบสเหล่านั้น จึงนั่งในที่แห่งหนึ่งของต้นไม้ของพวกดาบสนอกนี้. ดาบสเหล่านั้นมาแล้วภายหลังไม่เข้าไปที่โคนไม้นั้น ยืนอยู่ภายนอกเทียว กล่าวแล้วว่า ท่านทั้งหลายนั่งอยู่ในที่นี้เพราะเหตุไร. ดาบสเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านอาจารย์ ต้นไม้ของพวกกระผมแห้งตาย ต้นไม้นี้ต้นใหญ่ แม้พวกท่านก็จงเข้าไปเถิด จักพอแม้แก่พวกท่าน.

พวกดาบสกล่าวว่า พวกเราจะไม่เข้าไป พวกท่านจงออกไป แล้วขยายถ้อยคำกล่าวว่า พวกท่านจักไม่เต็มใจออกไปหรือ จึงจับที่มือเป็นต้นดึงออกไป.

ดาบสเหล่านั้นจึงคิดว่า ช่างเถิด เราจักให้พวกฤาษีนั้นสำเหนียก แล้วนิรมิตล้อ ๒ ล้อสำเร็จด้วยทอง และเพลาสำเร็จด้วยเงินด้วยฤทธิ์ได้ให้หมุนไปพระทวารหลวง. พวกราชบุรุษ กราบทูลคำเห็นปานนี้ให้พระราชาทรงทราบว่า พระเจ้าข้า พวกดาบสถือเครื่องบรรณาการยืนอยู่แล้ว. พระราชาทรงยินดี แล้วตรัสว่า พวกท่านจงเรียกมา ให้เรียกมาแล้วตรัสว่า พวกท่านทำกรรมใหญ่แล้ว เรื่องไรๆ ที่ข้าพเจ้าจะพึงทำแก่พวกท่านมีอยู่หรือ.

ดา. ขอถวายพระพร มหาบพิตร มีโคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นั่งของพวกข้าพระองค์ โคนไม้นั้น ถูกพวกฤาษีอื่นยึดแล้ว ขอพระองค์จงให้พวกฤาษีนั้นให้โคนไม้นั้นแก่พวกข้าพระองค์.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 310

พระราชาจึงส่งพวกบุรุษไปให้คร่าพวกดาบสออกไป พวกฤาษีที่ยืนภายนอก แลดูอยู่ว่า พวกดาบสนี้ให้อะไรหนอแลจึงได้แล้ว เห็นว่า ชื่อนี้ จึงคิดว่า ถึงแม้พวกเราให้สินบนแล้วก็จะถือเอาอีก จึงนิรมิตหน้าต่างรถแล้วด้วยทอง ด้วยฤทธิ์ ถือไปแล้ว. พระราชาทรงเห็นแล้วยินดี ตรัสว่า เจ้าข้า ข้าพเจ้าพึงทำอย่างไร.

พวกดาบส ทูลว่า มหาบพิตร คณะฤาษีอื่นนั่งที่โคนไม้ของพวกข้าพระองค์ ขอพระองค์จงประทานโคนไม้นั้นเถิด.

พระราชาทรงส่งพวกบุรุษไปให้คร่าดาบสเหล่านั้นออกไป. พวกดาบสทำการทะเลาะกันและกันแล้ว เป็นผู้เดือดร้อนว่า พวกเราทำกรรมไม่สมควรแล้ว จึงได้ไปเชิงเขาแล้วแล. ลำดับนั้น เทวดาโกรธแล้วว่า พระราชานี้รับสินบนจากมือของคณะดาบสแม้ทั้งสอง ให้ทำการทะเลาะกันและกัน จึงทดมหาสมุทรทำที่แห่งหนทางประมาณพันโยชน์แห่งแว่นแคว้นของพระราชานั้นให้เป็นสมุทรทีเดียว.

ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ภุรุราชา ทำให้ดาบสทั้งหลายมีระหว่างใน (แตกกัน) พระราชานั้น พร้อมกับแว่นแคว้นจึงถูกทำลายแล้วถึงความเสื่อมแล้ว.

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอดีตนี้อย่างนี้แล้ว เพราะขึ้นชื่อว่า ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย บุคคลควรเชื่อ เหตุนั้น พระราชาทรงกำหนดใคร่ครวญกิริยาของพระองค์แล้ว ทรงดำริว่า กรรมที่ไม่ควรทำเราได้ทำแล้ว จึงตรัสว่า พนาย พวกท่านจงไปคร่าเอาพวกเดียรถีย์ออกไป ครั้นให้คร่าออกไปแล้วทรงดำริว่า วิหารที่เราให้สร้างยังไม่มี เราจักให้สร้างวิหารในที่นั้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 311

นั่นแหละ แล้วไม่พระราชทานทัพพสัมภาระแก่เดียรถีย์เหล่านั้น ทรงให้สร้างวิหารแล้ว.

คำนั้น (ราชการาม) พระสังคีติกาจารย์กล่าวแล้วหมายเอาวิหารนั้น.

จบอรรถกถาสหัสสสูตรที่ ๑.