พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร องค์คุณของพระโสดาบัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38088
อ่าน  482

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 323

๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร

องค์คุณของพระโสดาบัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 323

๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร

องค์คุณของพระโสดาบัน

[๑๕๐๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์มากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเทวดาเหล่านั้นว่า

[๑๕๐๕] ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... เป็นความดี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 324

แล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรมะ... ในพระสงฆ์... สัตว์บางพวกในโลกนี้ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด... เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สัตว์บางพวกในโลกนี้ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๕๐๖] เทวดาทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... หมู่สัตว์นี้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า การประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นความดีแล เพราะเหตุที่ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว หมู่สัตว์นี้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จบตติยเทวจาริกสูตรที่ ๑๐

จบราชการามวรรคที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สหัสสสูตร

๒. พราหมณสูตร

๓. อานันทสูตร

๔. ปฐมทุคติสูตร

๕. ทุติยทุคติสูตร

๖. ปฐมมิตตามัจจสูตร

๗. ทุติยมิตตามัจจสูตร

๘. ปฐมเทวจาริกสูตร

๙. ทุติยเทวจาริกสูตร

๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร และอรรถกถา.