พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมมหานามสูตร ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38089
อ่าน  354

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 325

สรกานิวรรคที่ ๓

๑. ปฐมมหานามสูตร

ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 325

สรกานิวรรคที่ ๓

๑. ปฐมมหานามสูตร

ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม

[๑๕๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อนฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไป (๑) พร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษสมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเราจะเป็นอย่างไร.

[๑๕๐๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร ดูก่อนมหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้ว


(๑) คำว่า ย่อมไม่ไป ปาฐะว่า ภนฺเต น แปลว่า... ย่อมไม่ไป อรรถกถาแก้เป็น วิพฺภนฺเตน แปลว่า หมุนไปรอบๆ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 326

ด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แหละ ส่วนจิตของผู้นั้นอันศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้วตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ.

[๑๕๐๙] ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้นจะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลง สิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะลอยขึ้นถึงความวิเศษ ฉันใด จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔... ส่วนจิตของผู้นั้นซึ่งอบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร.

จบปฐมมหานามสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 327

สรกานิวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถาปฐมมหานามสูตร

พึงทราบอธิบายในปฐมมหานามสูตรที่ ๑ แห่งสรกานิวรรคที่ ๓.

คำว่า มั่งคั่ง คือ สำเร็จแล้วด้วยน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น.

คำว่า เจริญรุ่งเรือง คือ เบิกบานแล้วด้วยอำนาจเครื่องประดับ มีเครื่องสวมมือและสวมศีรษะเป็นต้น.

คำว่า แออัดไปด้วยมนุษย์ คือ มีมนุษย์หาระหว่างมิได้.

ถนนที่เดินไม่ได้ตลอด ท่านเรียกว่า พยูหะ ในบทว่า มีถนนคับแคบ คนทั้งหลายเข้าถึงทางที่เข้าโดยทางที่เข้าไปในถนนเหล่าใดแล ถนนเหล่านั้นคับแคบมีมากในนครนี้ เหตุนั้น พระนครนี้ชื่อว่า มีถนนคับแคบ.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงการอยู่กันอย่างหนาแน่นของชาวพระนคร แม้ด้วยบทนี้.

บทว่า วิพฺภนฺเตน ได้แก่ หมุนไปรอบๆ ข้างโน้นข้างนี้ เพราะความฟุ้ง.

จบอรรถกถาปฐมมหานามสูตรที่ ๑