๒. ทุติยมหานามสูตร ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 327
๒. ทุติยมหานามสูตร
ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 327
๒. ทุติยมหานามสูตร
ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม
[๑๕๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 328
ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไปพร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเราจะเป็นอย่างไร.
[๑๕๑๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลยๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด... เป็นไปเพื่อสมาธิ.
[๑๕๑๒] ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมโน้มโอนไปทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน.
ม. ก็พึงล้มไปทางที่ต้นไม้น้อมโน้มโอนไป พระเจ้าข้า.
พ. ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ก็ย่อมเป็นผู้น้อมโน้มโอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล.
จบทุติยมหานามสูตรที่ ๒