พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ทุติยสรกานิสูตร ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38093
อ่าน  371

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 338

๕. ทุติยสรกานิสูตร

ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 338

๕. ทุติยสรกานิสูตร

ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต

[๑๕๓๗] กบิลพัสดุ์นิทาน. ก็สมัยนั้น เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ในที่นี้ ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.

[๑๕๓๘] ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 339

ประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษติเตียนบ่นว่า... เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.

[๑๕๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน จะพึงไปสู่วินิบาตอย่างไรเล่า ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวอุบาสกนั้นว่า อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวเจ้าสรกานิศากยะว่า เจ้าสรกานิศากยะเป็นอุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน เจ้าสรกานิศากยะนั้นจะพึงไปสู่วินิบาตอย่างไร.

[๑๕๔๐] ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม และประกอบด้วยวิมุตติ เขาย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๑] ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ ในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม แต่ไม่ประกอบด้วยวิมุตติ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี อุปหัจจปรินิพพายี อสังขารปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก... อบาย ทุคติ วินิบาต.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 340

[๑๕๔๒] ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ ในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ไม่ประกอบด้วยวิมุตติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง เขาได้เป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๓] ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ ในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุตติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาได้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก... อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๔] ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่ง ไม่แน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุตติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมทนซึ่งการเพ่งด้วยปัญญาของเขา (ยิ่ง) กว่าประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.

[๑๕๔๕] ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่ง ไม่แน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุตติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์... ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรักในพระตถาคตพอประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก.. อบาย ทุคติ วินิบาต.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 341

[๑๕๔๖] ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ไม่ราบเรียบ มีพื้นไม่ดี ยังมิได้ก่นหลักตอออก และพืชเล่าก็แตกร้าว เสีย ถูกลมและแดดกระทบแล้วไม่แข็ง (ลีบ) เก็บไว้ไม่ดี ถึงฝนจะหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม พระเจ้ามหานามศากยราชกราบทูลว่าหามิได้พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนี้ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร ในข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวไม่ดี ประกาศไม่ดี ไม่เป็นนิยยานิกธรรม ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ไม่ราบเรียบและสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี.

[๑๕๔๗] ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ราบเรียบ มีพื้นดี ก่นหลักตอออกหมดแล้ว และพืชเล่าก็ไม่แตกร้าว ไม่เสีย ลมและแดดมิได้กระทบ แข็งแกร่ง เก็บไว้ดีแล้ว ฝนพึงหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม.

ม. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้นฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร ในข้อนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นนิยยานิกธรรม เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ราบเรียบ และสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี จะป่วยกล่าวไปไยถึงเจ้าสรกานิศากยะ เจ้าสรกานิศากยะได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์.

จบทุติยสรกานิสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 342

อรรถกถาทุติยสรกานิสูตร

พึงทราบอธิบายในทุติยสรกานิสูตรที่ ๕.

บทว่า นาที่ไม่ราบเรียบ ได้แก่ นาที่ไม่เสมอกัน.

บทว่า มีพื้นไม่ดี ได้แก่ มีพื้นกระด้าง ประกอบด้วยความเค็ม.

บทว่า แตกร้าว ได้แก่ แตกทั่วไป.

บทว่า เสีย ได้แก่ ชุ่มน้ำแล้วก็เปื่อยเน่า.

บทว่า ถูกลมและแดดกระทบแล้ว ความว่า ถึงความไม่มีรส เพราะลมและแดดกระทบแล้ว.

บทว่า ไม่แข็ง ได้แก่ ไม่ถือเอาแก่น คือ ยังไม่เกิดแก่น.

บทว่า เก็บไว้ไม่ดี ความว่า ใส่ไว้ในฉางเป็นต้นเก็บไว้ดีหามิได้.

บทว่า เก็บไว้ดีแล้ว ความว่า ไม่งอกตลอด ๔ เดือนจากที่ ที่เก็บไว้.

จบอรรถกถาทุติยสรกานิสูตรที่ ๕