พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ทุติยทุสีลยสูตร กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38095
อ่าน  348

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 348

๗. ทุติยทุสีลยสูตร

กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 348

๗. ทุติยทุสีลยสูตร

กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

[๑๕๖๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด จงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วจงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 349

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และท่านสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระอานนท์รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๑๕๖๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

[๑๕๗๐] ดูก่อนคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้แลหรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๑๕๗๑] อ. ดูก่อนคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 350

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีล ก็เมื่อเขาเห็นความเป็นผู้ทุศีลนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

ดูก่อนคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

[๑๕๗๒] ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกผู้ได้สดับในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 351

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อเขาเห็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า.

[๑๕๗๓] ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ผู้เจริญ กระผมไม่กลัว กระผมจักพูดแก่ท่านได้ ด้วยว่ากระผมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... อนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดซึ่งสมควรแก่คฤหัสถ์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว กระผมยังไม่แลเห็นความขาดอะไรๆ ของสิกขาบทเหล่านั้นในตนเลย.

อ. ดูก่อนคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว.

จบทุติยทุสีลยสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 352

อรรถกถาทุติยทุสีลยสูตร

พึงทราบอธิบายใน ทุติยทุสีลยสูตรที่ ๗.

บทว่า สมฺปรายิกํ มรณภยํ ได้แก่ ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้าเป็นเหตุ.

บทว่า สมควรแก่คฤหัสถ์ ได้แก่ เหมาะแก่คฤหัสถ์.

คำที่เหลือในที่ทั้งปวง มีเนื้อความตื้นทั้งนั้นแล.

จบทุติยทุสีลยสูตรที่ ๗

จบสรกานิวรรควรรณนาที่ ๓