พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ตติยอภิสันทสูตร ห่วงบุญกุศล ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ต.ค. 2564
หมายเลข  38111
อ่าน  344

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 377

๓. ตติยอภิสันทสูตร

ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 377

๓. ตติยอภิสันทสูตร

ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ

[๑๖๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ ประการนี้ ๔ ประการนี้ไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๑ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมในอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม... นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๒ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์... นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๓ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นเหตุให้ถึงความเกิดและความดับเป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ ประการนี้แล.

[๑๖๑๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครๆ จะนับจะประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข มีประมาณเท่านี้ มิใช่กระทำได้โดยง่าย ที่แท้ ห้วงบุญห้วงกุศลย่อมถึงความนับว่า เป็นกองบุญใหญ่ จะนับจะประมาณมิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 378

[๑๖๑๓] ผู้ใดต้องการบุญ ตั้งมั่นในกุศล เจริญมรรคเพื่อบรรลุอมตธรรม ผู้นั้นบรรลุธรรมที่เป็นสาระ ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไป (แห่งอาสวะ) ย่อมไม่หวั่นไหว ในเมื่อมัจจุราชมาถึง.

จบตติยอภิสันทสูตรที่ ๓

อรรถกถาตติยอภิสันทสูตร

พึงทราบอธิบายในตติยอภิสันทสูตรที่ ๓.

คำว่า ปุญฺกาโม คือ ผู้ต้องการบุญ.

คำว่า ผู้ตั้งมั่นในกุศล คือ ผู้ตั้งอยู่ในมรรคกุศล.

คำว่า เจริญมรรคเพื่อบรรลุอมตธรรม คือ เจริญอรหัตตมรรค เพื่อบรรลุนิพพาน.

ในบทว่า ผู้บรรลุธรรมที่เป็นสาระ มีวิเคราะห์ว่า ธรรมที่เป็นสาระ คือ อริยผล ท่านเรียกว่า ธรรมที่เป็นสาระ การบรรลุธรรมที่เป็นสาระของบุคคลนั้นมีอยู่ เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ผู้บรรลุธรรมที่เป็นสาระ อธิบายว่า ผู้บรรลุผล.

คำว่า ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไป คือ ยินดีในความสิ้นกิเลส.

จบอรรถกถาตติยอภิสันทสูตรที่ ๓