พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. วาทีสูตร ผู้รู้ชัดตามเป็นจริง ไม่หวั่นไหวต่อผู้ยกวาทะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ต.ค. 2564
หมายเลข  38185
อ่าน  357

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 460

๑๐. วาทีสูตร

ผู้รู้ชัดตามเป็นจริง ไม่หวั่นไหวต่อผู้ยกวาทะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 460

๑๐. วาทีสูตร

ผู้รู้ชัดตามเป็นจริง ไม่หวั่นไหวต่อผู้ยกวาทะ

[๑๗๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีความต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะ พึงมาจากทิศบูรพา... ทิศประจิม... ทิศอุดร... ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จักยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจักสะเทือนสะท้านหรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์โดยสหธรรม ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนเสาหิน ๑๖ ศอก เสาหินนั้นมีรากลึกไปข้างล่าง ๘ ศอก ข้างบน ๘ ศอก ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา... ทิศประจิม... ทิศอุดร... ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะ พึงมาจากทิศบูรพา... ทิศประจิม... ทิศอุดร... ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จักยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจักสะเทือนสะท้านหรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้นโดยสหธรรม ข้อนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบวาทีสูตรที่ ๑๐

จบสีสปาปัณณวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 461

อรรถกถาวาทีสูตร

พึงทราบอธิบายในวาทีสูตรที่ ๑๐.

คำว่า สิลายูโป ได้แก่ เสาหิน.

คำว่า โสฬสกุกฺกุโก แปลว่า ๑๖ ศอก บาลีว่า โสฬสกุกฺกุ แปลว่า ๑๖ ศอก ก็มี.

คำว่า มีรากลึกไปข้างล่าง ความว่า เข้าไปสู่หลุมข้างล่าง.

คำว่า ข้างบน ๘ ศอก คือ พึงสูงพ้นหลุมมา ๘ ศอก.

คำว่า อย่างแรง ได้แก่ มีกำลัง.

คำที่เหลือในบททั้งปวง ตื้นทั้งนั้นแล.

จบอรรรถกถาวาทีสูตรที่ ๑๐

จบสีสปาปัณณวรรควรรณนาที่ ๔

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ

๑. สีสปาสูตร

๒. ขทิรสูตร

๓. ทัณฑสูตร

๔. เจลสูตร

๕. สัตติสตสูตร

๖. ปาณสูตร

๗. ปฐมสุริยูปมสูตร

๘. ทุติยสุริยูปมสูตร

๙. อินทขีลสูตร

๑๐. วาทีสูตร และอรรถกถา.