พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. วาลสูตร ว่าด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงยาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ต.ค. 2564
หมายเลข  38192
อ่าน  344

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 471

๕. วาลสูตร

ว่าด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงยาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 471

๕. วาลสูตร

ว่าด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงยาก

[๑๗๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ท่านพระอานนท์ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้วได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว.

[๑๗๓๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือ การที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 472

ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน.

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใดย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้นย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบวาลสูตรที่ ๕

อรรถกถาวาลสูตร

พึงทราบอธิบายในวาลสูตรที่ ๕.

คำว่า สณฺ าคาเร ได้แก่ ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ.

คำว่า อุปาสนํ กโรนฺเต ได้แก่ ฝึกศิลป์ คือ การยิงลูกธนู.

คำว่า ไม่ผิดพลาด ได้แก่ ไม่ยิงลูกศรให้เลยไป.

คำว่า โปขานุโปขํ ความว่า พระเถระได้เห็น กุมารเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ผู้ยิงลูกศรลูกหนึ่งให้เข้าไปติดๆ อย่างนี้ คือ ลูกศรอื่นย่อมแทงลูกศรที่ติดปลายขนนกของลูกศรนั้นฉันใด ขึ้นชื่อว่า ลูกศรที่ติดขนนกที่ปลายลูกศรอื่น ย่อมแทงลูกศรที่มีขนนกติดปลายลูกศรของลูกศรที่ ๒ อีก ลูกศรที่ติดปลายขนนกตามมาอื่นอีก ก็ย่อมแทงลูกศรที่ขนนกติดปลายลูกศรอื่นของลูกศรนั้นอีกมาก ฉันนั้น.

คำว่า ยตฺร หิ นาม ตัดบทเป็น เย หิ นาม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 473

แปลว่า ก็ชื่อว่าเหล่าใด.

คำว่า ให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือ ทำได้ยากกว่า.

คำว่า แทงปลายขนทราย ด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน ความว่า พึงแบ่งขนทรายเส้นหนึ่งเป็น ๗ ส่วน แล้วถือเอาส่วนที่แบ่งหนึ่งส่วนแห่งขนทรายที่แบ่งนั้น แล้วผูกกลางผลมะเขือ ผูกขนทรายที่แบ่งแล้วเส้นอื่นอีกเข้าที่ปลายสุดแห่งลูกธนู แล้วจึงยืนที่ทางประมาณอุสภะหนึ่ง แทงจำเพาะปลายขนทรายที่ผูกผลมะเขือนั้น ด้วยปลายที่ผูกไว้ที่ลูกธนู.

คำว่า เพราะเหตุนั้น ความว่า เพราะสัจจะ ๔ แทงตลอดได้ยากอย่างนี้.

จบอรรถกถาวาลสูตรที่ ๕