๘. ทุติยฉิคคฬสูตร ว่าด้วยการได้ความเป็นมนุษย์แสนยาก
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 476
๘. ทุติยฉิคคฬสูตร
ว่าด้วยการได้ความเป็นมนุษย์แสนยาก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 476
๘. ทุติยฉิคคฬสูตร
ว่าด้วยการได้ความเป็นมนุษย์แสนยาก
[๑๗๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้มีน้ำเป็นอันเดียวกัน บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาปฐพีนั้น ลมทิศบูรพาพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศประจิม ลมทิศประจิมพัดเอาไปทางทิศบูรพา ลมทิศอุดรพัดเอาไปทางทิศทักษิณ ลมทิศทักษิณพัดเอาไปทางทิศอุดร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาปฐพีนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้น เป็นของยาก.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 477
พ. ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์ เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลก ก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้ เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบทุติยฉิคคฬสูตรที่ ๘
อรรถกถาทุติยฉิคคฬสูตร
พึงทราบอธิบายในทุติยฉิคคฬสูตรที่ ๘.
คำว่า มหาปฐพี ได้แก่ แผ่นดินใหญ่ระหว่างจักรวาล.
คำว่า อธิจฺจมิทํ ความว่า ถ้าว่าแอกนั้นไม่พึงเน่า น้ำในทะเลจะไม่แห้ง และเต่านั้นยังไม่ตาย เหตุนั้นก็จะพึงมีด้วยอำนาจตามความปรารถนาได้บ้าง.
ในคำว่า ภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยากอย่างนี้ นี้พระมหาสีวเถระได้แสดงยุคทั้ง ๔ คือการได้ความเป็นมนุษย์ ชื่อว่าได้ยากอย่างยิ่ง เหมือนการที่เต่าตาบอดนั้น สอดคอเข้าไปทางช่องแอก ที่บุรุษยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันออกโยนใส่เข้าไป.
ก็การเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตเจ้า ชื่อว่าเป็นเหตุให้ถึงฝั่งก็ยากอย่างยิ่ง เหมือนการที่เต่าตาบอดตัวที่บุรุษผู้ยืนที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศใต้ โยนใส่เข้าไปแล้วหมุนไปรอบๆ อยู่ ถึงแอกอันแรกแล้ว ขึ้นไปสู่ช่องข้างบนโดยทางช่องสอดคอเข้าไปทางช่องอยู่.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 478
ก็การแสดงธรรมและวินัย ที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้วชื่อว่าเป็นเหตุเกิดที่ยากยิ่งกว่า เหมือนการที่เต่าตาบอดตัวที่บุรุษผู้ยืนที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันตกโยนใส่เข้าไปแล้ว หมุนไปรอบๆ แล้วถึงแอก ๒ อันข้างบน แล้วขึ้นสู่ช่องข้างบนโดยทางช่อง แล้วสอดคอเข้าไปทางช่องอยู่.
ก็การแทงตลอดสัจจะ ๔ พึงทราบว่า เป็นเหตุเกิดที่ยากยิ่งกว่าอย่างยิ่ง เหมือนการที่เต่าตาบอดตัวที่บุรุษผู้ยืนที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศเหนือ โยนใส่เข้าไปแล้วหมุนไปรอบๆ อยู่ ถึงแอก ๓ อันข้างบนแล้ว ขึ้นไปสู่ช่องข้างบนโดยทางช่องแล้วสอดคอเข้าไปทางช่องอยู่.
สูตรที่ ๘ เป็นต้น มีนัยตามที่กล่าวแล้วในอภิสมยสังยุตนั่นเทียวแล.
จบอรรถกถาทุติยฉิคคฬสูตรที่ ๘
จบปปาตวรรควรรณนาที่ ๕