พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

นิคมกถา อรรถกถา ชื่อว่า สารัตถปกาสินี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ต.ค. 2564
หมายเลข  38240
อ่าน  568

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 513

นิคมกถา

อรรถกถา ชื่อว่า สารัตถปกาสินี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 513

นิคมกถา

ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ อรรถกถา ชื่อว่า สารัตถปกาสินี ใดอันละเอียดอ่อน ที่ข้าพเจ้าผู้ปรารถนาความตั้งมั่น แห่งพระสัทธรรม ปรารภเพื่อทำการพรรณนาเนื้อความ แห่งสังยุตตวรนิกาย ที่มีอุปการะมากแก่นักบวชทั้งหลาย ผู้มีความรู้ที่ละเอียดอ่อนอันนำวิปัสสนามาให้.

ก็อรรถกถาสารัตถปกาสินีนั้น ถือเอาสาระจากมหาอรรถกถาจบแล้ว อรรถกถาสารัตถปกาสินีนั้น ข้าพเจ้ารจนาโดยภาณวาร โดยบาลีประมาณ ๗๘ คาถา แม้ปกรณ์วิเศษชื่อ วิสุทธิมรรค มีประมาณ ๕๙ ภาณวาร ข้าพเจ้ารจนาให้เป็นที่มาแห่งพระสูตร (อาคมานํ) เพื่อต้องการประกาศเนื้อความโดยภาณวารทั้งหลาย เพราะฉะนั้น อรรถกถานี้ กับปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรคนั้น โดยนับตามภาณวารเป็น ๑๓๗ หย่อนนิดหน่อย.

ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าผู้ถือเอาสาระแห่งมูลัตถกถา ของพระเถระทั้งหลายผู้อยู่ในมหาวิหาร รจนาอรรถกถานี้ มีประมาณ ๑๓๗ โดยภาณวาร ที่ประกาศลัทธิอยู่อย่างนี้ สั่งสมแล้วนั้น ขอสัตว์โลกทั้งปวง จงมีสุขเถิด.

ด้วยบุญแม้นั้นที่พระเถระ ชื่อว่า ภทันตโชติปาละ ผู้มีศีลหมดจด ผู้มีความรู้อันเอิบอิ่มในบาทแห่งสุภาสิตวาร ผู้ใคร่เพื่อความแจ่มแจ้งในศาสนา เป็นผู้งดงามอ้อนวอนข้าพเจ้าอยู่ บรรลุแล้วเพื่อรจนาอรรถถกานี้ ขอประชาชนจงมีความสุขเถิด.

อรรถกถาสังยุตตนิกาย ที่ชื่อว่า สารัตถปกาสินีนี้ พระเถระ ผู้มีชื่อที่ครูทั้งหลายขนานว่า พุทธโฆสะ ผู้ประดับด้วยความบริสุทธิ์ ความเชื่อ ความรู้และความเพียรอย่างยิ่ง ผู้มีคุณสมุทัยมีศีลมารยาท ความซื่อตรง และความอ่อนโยนให้เกิดขึ้นแล้ว ผู้สามารถที่จะหยั่งลงสู่ชัฏคือลัทธิของตนและของผู้อื่นได้ ผู้ประกอบด้วยปัญญาและความฉลาด เป็นนักไวยากรณ์ใหญ่ โดยความเป็นผู้มีความรู้ไม่ติดขัด ในศาสนาของพระศาสดา ต่างด้วยปริยัติคือพระไตร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 514

ปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ผู้ประกอบด้วยความสละสลวยแห่งถ้อยคำที่กล่าวไพเราะเปล่งออกได้สบายให้เกิดกรณสมบัติ ผู้เป็นนักพูดที่พ้นจากผู้คู่ควรเป็นนักพูดผู้ประเสริฐ ผู้เป็นมหากวี เป็นผู้ประดับวงศ์ แห่งพระเถระทั้งหลาย ผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้มีความรู้อันตั้งมั่นดีแล้ว ในอุตตริมนุสสธรรมอันประดับด้วยคุณต่างด้วยอภิญญาหกเป็นต้น มีปฏิสัมภิทาญาณที่แตกฉานแล้วเป็นบริวาร ผู้เป็นประทีปแห่งวงศ์พระเถระ ผู้มีความรู้อันไพบูลย์และบริสุทธิ์รจนาแล้ว.

แม้พระนามว่า พุทธะ ดังนี้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระทัยหมดจด ผู้คงที่ ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้แสวงหาประโยชน์อันใหญ่ ยังเป็นไปในโลกตราบใด ขออรรถกถาชื่อว่าสารัตถปกาสินีนี้ อันแสดงนัยอยู่ เพื่อความหมดจดแห่งศีลแก่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณเป็นเครื่องสลัดออกจากโลก จงดำรงอยู่ในโลกตราบนั้น เทอญ.

จบ อรรถกถามหาวารสังยุต

รวมสังยุตที่มีในมหาวารวรรคนี้ คือ

๑. มรรคสังยุต

๒. โพชฌงคสังยุต

๓. สติปัฏฐานสังยุต

๔. อินทริยสังยุต

๕. สัมมัปปธานสังยุต

๖. พลสังยุต

๗. อิทธิปาทสังยุต

๘. อนุรุทธสังยุต

๙. ฌานสังยุต

๑๐. อานาปานสังยุต

๑๑. โสตาปัตติสังยุต

๑๒. สัจจสังยุต.