สมถะเป็นกุศลจิต เป็นความสงบของจิต

 
chatchai.k
วันที่  15 ต.ค. 2564
หมายเลข  38246
อ่าน  146

ความสงบจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ซึ่งบางครั้งท่านผู้ฟังก็ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ เพียงแต่ไปปฏิบัติจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบจากโลภะ โทสะ


สมถะเป็นกุศลจิต เป็นความสงบของจิต ซึ่งก็ต้องดีกว่าอกุศลจิตแน่นอน แต่ไม่ใช่กุศลที่ดับสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกจิตใจไม่สงบ กระสับกระส่าย จะเป็นเพราะโลภะหรือโทสะก็ตามแต่ มีสติขั้นสมถะระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล อย่างเวลาโกรธใครหรือจิตใจไม่แช่มชื่น ก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้ามีเมตตาในบุคคลนั้น โทสะหรือความไม่แช่มชื่นของจิตจะไม่มีในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น การเจริญเมตตา คือ ระลึกถึงอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้โกรธด้วยความเมตตาในขณะนั้น ถ้าเมตตาเกิดขึ้น ความโกรธก็จะไม่เกิดร่วมกับความเมตตาในขณะนั้นเลย จิตที่ประกอบด้วยเมตตา เป็นสมถะ เป็นความสงบ

เพราะฉะนั้น สมถะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นความเมตตาต่อบุคคลอื่นในขณะหนึ่งขณะใด ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของอกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล แต่เป็นไปในเมตตาที่ทำให้จิตสงบ นั่นเป็นสมถภาวนาทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็ควรเจริญ ควรอบรม เพราะเหตุว่าการมีชีวิตอยู่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นประจำ การให้จิตใจเป็นไปในกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน หรือขั้นศีล โดยการวิรัติไม่เบียดเบียนบุคคลนั้นก็ยังไม่พอ ก็ต้องอบรมเจริญพรหมวิหารซึ่งเป็นสมถภาวนา ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเรื่องความสงบจริงๆ จะทราบว่า ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ซึ่งบางครั้งท่านผู้ฟังก็ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ เพียงแต่ไปปฏิบัติจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบจากโลภะ โทสะ

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก ซึ่งก็จะเป็นไปต่อจากลำดับของศีล ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ที่ท่านปฏิบัติจริงๆ เป็นสมถภาวนาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสมถภาวนาแล้ว จะต้องเกิดร่วมกับปัญญาทุกครั้ง จิตที่เจริญสมถภาวนาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิกทุกครั้ง นั่นถึงจะเป็นสมถภาวนา แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้แม้จุดประสงค์ว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร แล้วลักษณะของสมถภาวนานั้นเป็นความสงบของจิตในขณะไหน อย่างไร คือ ต้องสงบทั้งจากโทสะ และจากโลภะด้วย เพราะส่วนมากของผู้ไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาจริงๆ ท่านไม่เห็นโทษของโลภะเลย ท่านเห็นแต่ความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ความเดือดร้อนของจิตซึ่งเป็นปฏิฆะ เป็นโทสมูลจิต แต่พอมีคนมาชวนไปเที่ยวสนุกๆ ท่านก็ไป รับประทานอาหารอร่อยๆ ท่านก็ชอบ ทุกอย่างที่เป็นอิฏฐารมณ์แล้วท่านไม่กลัวเลย แต่ท่านไม่ชอบอนิฏฐารมณ์หรือโทสมูลจิต

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้ศึกษาอย่างนี้ ท่านก็ไปปฏิบัติสิ่งที่ท่านเข้าใจว่า เป็นสมถภาวนา โดยที่ขณะนั้นปัญญาไม่ได้เกิดร่วมกับจิตเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสงบแท้จริงจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ

เพราะฉะนั้น ที่ท่านผู้ฟังว่าไปปฏิบัติสมาธิหรือทำสมาธิก็ไม่ทราบว่า ท่านอบรมเจริญอย่างไร เห็นโทษเห็นภัยของโลภะ โทสะ โมหะในชีวิตประจำวัน แล้วการอบรมสมาธิที่เป็นการตั้งมั่นคงของความสงบของจิตได้ ก็ต้องอาศัยการเจริญสมถภาวนาเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าชีวิตประจำวันของท่าน ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง คิดร้ายต่อคนอื่นบ้าง เบียดเบียนคนอื่นบ้างด้วยกาย ด้วยวาจา แต่พอถึงตอนกลางคืน ดึกๆ ท่านก็เข้าห้องเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ก็ไม่ทราบว่า ท่านไปเอาเมตตาวันไหน ขณะไหนมาเป็นพื้น เป็นบาทที่จะให้จิตของท่านสงบจนถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้ ในเมื่อตลอดทั้งวัน ท่านก็ไม่เคยระลึกได้เลยว่า จิตของท่านเศร้าหมองขุ่นมัวเต็มไปด้วยอกุศล เต็มไปด้วยการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา ทางจิตกับบุคคลอื่นมามากเหลือเกิน แต่พอถึงเวลาก็ไปเข้าห้องเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ก็ไม่ทราบว่า จะเจริญได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็เป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้าไม่ใช่สมถภาวนาแล้ว ไม่ใช่กุศล

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมาธิที่ปฏิบัติกันอยู่ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องการสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

สมถภาวนา กับ เมตตาในชีวิตประจำวัน

สมถภาวนา ตอนที่ 01

วินัยคฤหัสถ์-สมถภาวนา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ