เรื่องพระเถรีรูปหนึ่ง ใน สุเมธาเถรีคาถา

 
chatchai.k
วันที่  15 ต.ค. 2564
หมายเลข  38258
อ่าน  95

กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน เป็นของหลอกลวง เหมือนของที่ยืมเขามา เปรียบด้วยหอกและหลาว เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นความทุกข์ยาก เป็นความลำบาก เช่นดังหลุมถ่านเพลิง เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ เป็นภัย เป็นนายเพชฌฆาต


มีข้อความโดยย่อว่า

เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าโกญจะ ในนครมันตาวดี ชื่อว่า สุเมธา เป็นผู้อันพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้กระทำตามคำสั่งสอนให้เลื่อมใสแล้ว เป็นผู้มีศีล มีถ้อยคำไพเราะ เป็นพหูสูต ได้รับแนะนำดีแล้วในพระพุทธศาสนา เข้าไปเฝ้าพระชนก และพระชนนี แล้วกราบทูลว่า

ขอพระชนกพระชนนีทั้งสองโปรดฟังคำของหม่อมฉัน หม่อมฉันยินดีในนิพพาน เพราะว่าภพ ถึงแม้เป็นทิพย์ก็เป็นของไม่ยั่งยืน จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามทั้งหลายอันเป็นของเปล่า มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก กามทั้งหลายเผ็ดร้อนเปรียบด้วยอสรพิษ เป็นที่ทำให้คนพาลหลงหมกมุ่นอยู่ คนพาลเหล่านั้นต้องถึงทุกข์ เดือดร้อน ยัดเยียดอยู่ในนรกตลอดกาลนาน และเป็นเหตุทำให้คนพาล ผู้มีความรู้ชั่ว ไม่สำรวมด้วยกาย วาจา และใจ ทำความชั่วต่างๆ ย่อมเศร้าโศกในอบาย ในกาลทุกเมื่อ เป็นเหตุทำให้คนพาล ผู้มีปัญญาทราม ไม่มีความคิด ยินดีแล้วในทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักธรรมอันพระอริยเจ้าแสดงอยู่ ทั้งไม่รู้จักอริยสัจ

ขอพระชนกชนนีทรงโปรดอนุญาตเถิด หม่อมฉันจะบวชเพื่อดับตัณหาในภพ การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หม่อมฉันไม่ได้พบแล้ว ขณะอันเป็นขณะไม่ควร หม่อมฉันก็ได้แล้ว หม่อมฉันไม่พึงประทุษร้ายศีล และพรหมจรรย์ตลอดชีวิต

เวลาฟังข้อความที่พระเถรีกล่าวนี้ บางทีท่านอาจจะลืมน้อมมาถึงบุคคลที่ท่านพระเถรีท่านกล่าว คือ ตัวท่าน เช่นข้อความที่ว่า กามทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก กามทั้งหลายเผ็ดร้อนเปรียบด้วยอสรพิษ เป็นที่ทำให้คนพาลหลงหมกมุ่นอยู่

นี่เป็นความจริง ตราบใดที่ยังหลง ยังหมกมุ่นอยู่ ก็ยังเป็นคนพาล บุคคลใดที่ไม่ได้สะสมบารมีมาอย่างมั่นคงในการที่จะละกาม ไม่สามารถที่จะมีสติระลึกรู้ความจริงของกาม และของโทษของกามได้ถึงเพียงนี้ แต่สำหรับผู้ที่ได้สะสมบารมีมามั่นคงแล้วในการที่จะละกาม ย่อมจะเห็นโทษของกามนานาประการทีเดียว

ท่านผู้ฟังจะเห็นความคุ้มค่าที่นางสุเมธาราชกัญญาได้ทรงยกภาษิตต่างๆ ขึ้นมาแสดง ให้เห็นถึงการที่ไม่ควรติดในกาม ในร่างกาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และข้อสำคัญที่สุด คือ ก่อนที่จะสละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะต้องอบรมปัจจัยบารมีมากมายสักเพียงไร ด้วยการขัดเกลา ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ อดทนในการที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

สุเมธาเถรีคาถา


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ