พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๒ - ๓ ประวัติพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38338
อ่าน  695

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 258

อรรถกถาสูตรที่ ๒ - ๓

ประวัติพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 258

อรรถกถาสูตรที่ ๒ - ๓

ประวัติพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถระ

สูตรที่ ๒ - ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มหาปญฺานํ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาอย่างมากมาย บทว่า อิทฺธิมนฺตานํ ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์. คำว่า สารีบุตร โมคคัลลานะ เป็นชื่อของพระเถระทั้งสองนั้น. ในปัญหากรรมของพระเถระทั้ง ๒ นี้ มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 259

ในที่สุดอสงไขยกัปยิ่งด้วยแสนกัป นับแต่กัปนี้ ท่านพระสารีบุตรบังเกิดในครอบครัวพราหมณมหาศาล ชื่อ สรทมาณพ. ท่านพระโมคคัลลานะบังเกิดในครอบครัวคฤหบดีมหาศาล ชื่อ สิริวัฑฒกุฏมพี. ทั้ง ๒ คนเป็นเพื่อนเล่นฝุ่นด้วยกันมา เมื่อบิดาล่วงลับไปสรทมาณพก็ได้ทรัพย์เป็นอันมาก ซึ่งเป็นสมบัติของสกุล วันหนึ่ง อยู่ในที่ลับคิดว่า เราไม่รู้อัตตภาพในโลกนี้ ไม่รู้อัตตภาพในโลกอื่น ขึ้นชื่อว่าความตายเป็นของแน่ สำหรับเหล่าสัตว์ที่เกิดมาแล้ว. ควรที่เราจะถือบวชสักอย่างหนึ่ง แสวงหาโมกขธรรม. สรทมาณพนั้นไปหาสหายกล่าวว่า เพื่อนสิริวัฑฒ์ เราจักบวชแสวงหาโมกขธรรม เจ้าจักบวชพร้อมกับเราได้ไหม. สิริวัฑฒกุฏมพีตอบว่า ไม่ได้ดอกเพื่อน เจ้าบวชคนเดียวเถิด. สรทมาณพคิดว่า คนเมื่อไปปรโลก จะพาสหาย หรือญาติมิตรไปด้วยหามีไม่ กรรมที่ตนทำก็เป็นของตนผู้เดียว ต่อนั้นก็สั่งให้เปิดเรือนคลังรัตนะให้มหาทานแก่คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจกทั้งหลาย แล้วบวชเป็นฤาษี. มีคนบวชตามสรทมาณพนั้น อย่างนี้คือ ๑ คน ๒ คน ๓ คน กลายเป็นชฏิลจำนวนประมาณ ๗๔,๐๐๐ รูป สรทฤาษีนั้น ทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว ก็สอนกสิณบริกรรมแก่ชฏิลเหล่านั้น. ชฎิลเหล่านั้นก็ทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้บังเกิดทุกรูป.

สมัยนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสีทรงอุบัติขึ้นในโลก. พระนครชื่อว่า จันทวดี. พระพุทธบิดาเป็นกษัตริย์พระนามว่า ยศวันตะ. พระพุทธมารดา เป็นพระเทวีพระนามว่า ยโสธรา. ต้นไม้ที่ตรัสรู้ ชื่อว่า อัชชุนพฤกษ์ ต้นกุ่ม (ต้นรกฟ้าขาวก็ว่า). พระอัครสาวก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 260

ทั้ง ๒ ชื่อว่า พระนิสภเถระ และพระอโนมเถระ. พระพุทธอุปฐากชื่อ พระวรุณเถระ พระอัครสาวิกาทั้ง ๒ ชื่อ สุนทรา และสุมนา. ทรงมีพระชนมายุ ๑๐,๐๐๐ พรรษา. พระวรกายสูง ๕๘ ศอก. รัศมีพระวรกายแผ่ไป ๑๒ โยชน์. มีภิกษุเป็นบริวาร ๑๐๐,๐๐๐ รูป. ต่อมาวันหนึ่ง พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า เสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงตรวจดูโลก เวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นสรทดาบส ทรงพระดำริว่า วันนี้ เพราะเราไปหาสรทดาบสเป็นปัจจัย จักมีธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่ และสรทดาบสนั้น จักปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก สิริวัฑฒกุฏุมพีสหายของเขา จักปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ จบเทศนาชฏิล ๗๔,๐๐๐ รูป บริวารของเขา จักบรรลุพระอรหัตควรที่เราจะไปที่นั้น. ดังนี้แล้ว ทรงถือบาตร และจีวรของพระองค์ไม่เรียกใครอื่น เสด็จลำพังพระองค์เหมือนราชสีห์ เมื่อเหล่าอันเตวาสิก ศิษย์ของสรท ดาบส ออกไปแสวงหาผลาผล ทรงอธิษฐานว่า ขอสรทดาบสจงรู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสรทดาบสกำลังดูอยู่นั่นเอง ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับยืนบนพื้นดิน.

สรทดาบส เห็นพระพุทธานุภาพ และพระสรีรสมบัติของพระองค์ จึงพิจารณาลักษณะมนต์ ก็รู้ว่าธรรมดาผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ เมื่ออยู่ครองเรือน ก็ต้องเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ เมื่อบวชก็ต้องเป็นพระสัพพัญญูพุทธะ ผู้ทรงเปิดกิเลส ดุจหลังคาเสียแล้วในโลก มหาบุรุษผู้นี้ ต้องเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จึงออกไปต้อนรับ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ปูอาสนะถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูแล้ว. แม้สรทดาบส

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 261

ก็ถือเอาอาสนะที่สมควรแก่ตน นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. สมัยนั้นชฏิล ๗๔,๐๐๐ รูป ก็ถือผลาผลมีโอชะอันประณีตๆ มาถึงสำนักของอาจารย์ มองดูอาสนะที่พระพุทธเจ้า และอาจารย์นั่งแล้วกล่าวว่าท่านอาจารย์ พวกเราเที่ยวไปด้วยเข้าใจว่า ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าท่านในโลกนี้ แต่บุรุษผู้นี้เห็นทีจะใหญ่กว่าท่านแน่. สรทดาบสกล่าวว่า พ่อเอ๋ย พูดอะไร พวกเจ้าประสงค์จะเปรียบขุนเขาสิเนรุ ซึ่งสูง ๖,๐๐๐,๐๐๐ โยชน์ ทำให้เท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด. ลูกเอ๋ยพวกเจ้าอย่าเปรียบเรากับพระสัพพัญญูพุทธะเลย. ครั้งนั้น ชฏิลเหล่านั้น คิดว่า ถ้าบุรุษผู้นี้ จักเป็นสัตว์ต่ำช้าแล้วไซร้ อาจารย์ของเราคงไม่นำมาเปรียบเช่นนี้ ที่แท้บุรุษผู้นี้ต้องเป็นใหญ่หนอ ทุกรูปจึงหมอบแทบเบื้องพระยุคลบาท ไหว้ด้วยเศียรเกล้า. ลำดับนั้น อาจารย์จึงกล่าวกะชฏิลเหล่านั้นว่า พ่อเอ๋ย ไทยธรรมของเราที่คู่ควรแก่พระพุทธเจ้าไม่มีเลย. ในเวลาภิกษาจาร พระศาสดาก็เสด็จมาแล้วในที่นี้ พวกเราจักถวายไทยธรรมตามกำลัง พวกเจ้าจงนำผลาผลของเราที่ประณีตๆ มา แล้วให้นำมา ล้างมือแล้ว ก็วางไว้ในบาตรของพระตถาคตด้วยตนเอง. พอพระศาสดาทรงรับผลาผล เทวดาทั้งหลายก็ใส่ทิพย์โอชะลง. ดาบสก็กรองน้ำถวายด้วยตนเอง. ลำดับนั้น เมื่อพระศาสดาประทับนั่งเสวยเสร็จแล้ว ดาบสก็เรียกอันเตวาสิกมาทุกคน นั่งพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นสาราณียกถา (ถ้อยคำให้หวนระลึกถึงกัน) ในสำนักพระศาสดา.

พระศาสดาทรงดำริว่า พระอัครสาวกทั้งสอง จงมาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระอัครสาวกเหล่านั้น รู้พระดำริของพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 262

มีพระขีณาสพแสนองค์เป็นบริวาร มาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น สรทดาบสเรียกพวกอันเตวาสิกมาพูดว่า พ่อทั้งหลาย อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งก็ต่ำ อาสนะที่พระสมณะแสนองค์นั่งก็ไม่มี วันนี้ ควรที่ท่านทั้งหลายจะกระทำพุทธสักการะให้โอฬาร ท่านทั้งหลาย จงนำดอกไม้ที่สมบูรณ์ด้วยสี และกลิ่นจากเชิงเขามาเวลาที่กล่าวย่อมเป็นเหมือนเนิ่นนาน แต่วิสัยของผู้มีฤทธิ์เป็นอจินไตย เพราะเหตุนั้น ดาบสเหล่านั้น จึงนำดอกไม้ที่สมบูรณ์ด้วยสี และกลิ่นมา โดยกาลชั่วครู่เดียวเท่านั้น ตกแต่งอาสนะดอกไม้ ประมาณโยชน์หนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า สำหรับพระอัครสาวกทั้งหลาย ๓ คาวุต สำหรับภิกษุที่เหลือ ต่างกันกึ่งโยชน์ เป็นต้น สำหรับภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ ประมาณอุสภะเดียว. เมื่อตกแต่งอาสนะเสร็จเรียบร้อยแล้ว สรทดาบสยืนประคองอัญชลี ตรงพระพักตร์พระตถาคตแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอจงเสด็จขึ้นอาสนะดอกไม้นี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด (ครั้นกล่าวแล้ว จึงได้กล่าวเป็นคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า)

นานาปุบฺผํ จ คนฺธญฺจ สมฺปาเทตฺวาน เอกโต

ปุบฺผาสนํ ปญฺาเปตฺวา อิทํ วจนมพฺธรวึ ฯลฯ

ข้าพระองค์ร่วมกันรวบรวมดอกไม้ต่างๆ และของหอมมาตกแต่งอาสนะดอกไม้ ได้กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระผู้กล้าหาญ อาสนะนี้ตกแต่ง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 263

ไว้เพื่อพระองค์ เหมาะสมแก่พระองค์ ขอพระองค์ จงยังจิตของข้าพระองค์ให้ผ่องใสประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้เถิด. พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ ตลอดเจ็ดวันเจ็ดคืน ทำจิตของเราให้ผ่องใส ทำโลกพร้อมทั้งเทวดาให้ร่าเริง.

เมื่อพระศาสดาประทับนั่งอย่างนี้แล้ว พระอัครสาวกทั้งสองกับเหล่าภิกษุที่เหลือ ก็นั่งบนอาสนะอันถึงแล้วแก่ตนๆ. สรทดาบสถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ยืนกั้นเหนือพระเศียรพระตถาคต. พระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติ ด้วยพระดำริว่า สักการะนี้ จงมีผลมากแก่ชฏิลทั้งหลาย. พระอัครสาวกทั้งสองก็ดี ภิกษุที่เหลือก็ดี รู้ว่าพระศาสดาทรงเข้าสมาบัติ ก็พากันเข้าสมาบัติ. เมื่อพระตถาคตนั่งเข้านิโรธสมาบัติตลอด. ๗ วัน พวกอันเตวาสิก เมื่อถึงเวลาภิกขาจารก็บริโภคมูลผลาหารของป่า ในเวลาที่เหลือก็ยืนประคองอัญชลีแด่พระพุทธเจ้า. ส่วนสรทดาบส แม้ภิกขาจารก็ไม่ไป ยับยั้งอยู่ด้วยปีติ และสุขทั้ง ๗ วัน โดยทำนองที่ถือฉัตรดอกไม้อยู่นั่นแหละ.

พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ตรัสเรียกพระนิสภเถระอัครสาวกผู้นั่งอยู่ ณ เบื้องขวาว่า นิสภะเธอจงทำบุบผาสนานุโมทนา แก่ดาบทั้งหลาย ผู้การทำสักการะ. พระเถระดีใจเหมือนทหารใหญ่ ได้ลาภมากจากสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ เริ่มอนุโมทนาเกี่ยวกับการถวายอาสนะดอกไม้. ในเวลาจบเทศนาของพระอัครสาวกนั้น จงตรัสเรียกทุติย-

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 264

สาวกว่า ภิกษุ แม้เธอก็จงแสดงธรรม. ฝ่ายพระอโนมเถระพิจารณาพระไตรปิฎกพุทธวจนะมากล่าวธรรมกถา. ด้วยเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง แม้ชฎิลสักรูปหนึ่งไม่ได้ตรัสรู้. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงดำรงอยู่ในพุทธวิสัยอันหาประมาณไม่ได้ ทรงเริ่มพระธรรมเทศนา. ในเวลาจบเทศนา เว้นสรทดาบส ชฏิลแม้ทั้งหมดจำนวน ๗๔,๐๐๐ รูป บรรลุพระอรหัต. พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด. ในขณะนั้นเอง ผมและหนวดของชฏิลเหล่านั้นก็หายไป บริขาร ๘ ก็ได้สรวมสอดเข้าในกายทันที.

ถามว่า เพราะเหตุไร สรทดาบสจึงไม่บรรลุพระอรหัต. ตอบว่า เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน. ได้ยินว่า. จำเดิมตั้งแต่เริ่มฟังเทศนาของพระอัครสาวก ผู้นั่งบนอาสนะที่สองของพระพุทธเจ้า ผู้ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ แสดงธรรมอยู่ สรทดาบสนั้นเกิดความคิดขึ้นว่า โอหนอ แม้เราก็ควรได้หน้าที่ที่พระสาวกนี้ได้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้จะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต.สรท ดาบสนั้น ไม่อาจทำให้แจ้งมรรคผล ก็เพราะความปริวิตกนั้น จึงถวายบังคมพระตถาคตล้ว ยืนตรงพระพักตร์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้นั่งบนอาสนะติดกับพระองค์ชื่อไร. ในศาสนาของพระองค์. พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุนี้ผู้ประกาศตามพระธรรมจักร ที่เราประกาศแล้ว ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ แทงตลอดโสฬสปัญหา ชื่อว่านิสภเถระอัครสาวก ในศาสนาของเรา. สรทดาบส (ได้ฟังแล้ว) จึงได้ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ ข้าพระองค์กั้นฉัตรดอกไม้ตลอด ๗ วัน การทำสักการะนี้ใด ด้วยผลของสักการะนี้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 265

นั้น ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาเป็นท้าวสักกะ หรือเป็นพรหมสักอย่างหนึ่ง แต่ในอนาคต ขอให้ข้าพระองค์ พึงเป็นพระอัครสาวก ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนพระนิสภเถระนี้.

พระศาสดาทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูว่า ความปรารถนาของดาบสนี้ จักสำเร็จไหมหนอ ก็ได้ทรงเห็นว่าล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปจะสำเร็จ ก็แหละครั้นทรงเห็นแล้ว จึงตรัสกะสรทดาบสว่า ความปรารถนาอันนี้ของท่าน จักไม่เป็นของเปล่า แต่ในอนาคตล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม จักอุบัติขึ้นในโลก จักมีพระพุทธมารดานามว่า มหามายาเทวี จักมีพระพุทธบิดานามว่า สุทโธทนมหาราช จักมีพระโอรสนามว่า ราหุล จักมีพระอุปัฏฐากนามว่า อานนท์ จักมีพระทุติยสาวกนามว่า โมคคัลลานะ ส่วนตัวท่านจักเป็นพระอัครสาวก ของพระโคดมนั้น นามว่าพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ครั้นทรงพยากรณ์ดาบสนั้นอย่างนี้แล้ว ตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จเหาะไปทางอากาศ.

ฝ่ายสรทดาบสไปยังสำนักของพระเถระ ผู้เคยเป็นอันเตวาสิกแล้ว ให้ส่งข่าวแก่สิริวัฑฒกุฏุมพี ผู้เป็นสหายว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงบอกสหายของข้าพเจ้าว่า สรทดาบสผู้สหายของท่าน ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า ผู้จะเสด็จอุบัติในอนาคต ณ ที่ใกล้บาทมูลของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ส่วนท่านจงปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวกเถิด ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ไปโดยครู่เดียว ก่อนหน้าพระเถระทั้งหลาย ได้ยืนอยู่ที่ประตูนิเวศน์ของสิริวัฑฒกุฎุมพี

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 266

สิริวัฑฒกุฏุมพีปราศัยว่า นานหนอ พระผู้เป็นเจ้าจะได้มา แล้วให้นั่งบนอาสนะ ส่วนตนนั่งบนอาสนะตัวที่ต่ำกว่า ถามว่า ก็อันเตวาสิกบริษัทของท่าน ไม่ปรากฏหรือขอรับ สรทดาบส กล่าวว่า เจริญพรสหาย พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเสด็จมา ในอาศรมของพวกอาตมภาพๆ ได้กระทำสักการะแด่พระองค์ท่าน ตามกำลังของตนๆ พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ดาบสทั้งหมด ในเวลาจบเทศนา ดาบสที่เหลือบรรลุพระอรหัต เว้นอาตมภาพ. สิริวัฑฒกุฏุมพีถามว่า เพราะเหตุไรท่านจึงไม่บวช. สรทดาบสกล่าวว่า อาตมภาพเห็นพระนิสภเถระอัครสาวกของพระศาสดาแล้ว จึงได้ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม ผู้จะเสด็จอุบัติในอนาคต. แม้ตัวท่านก็จงปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวก ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด. สิริวัฑฒกุฏุมพีกล่าวว่า ท่านขอรับกระผมไม่มีความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า. สรทดาบสกล่าวว่า การกราบทูลกับพระพุทธเจ้า จงเป็นภาระของอาตมภาพ ท่านจงตระเตรียมอธิการ (สักการะอันยิ่งยวด) ไว้เถิด. สิริวัฑฒกุฏุมพี ฟังคำของสรทดาบสแล้ว จึงให้ปรับสถานที่ประมาณ ๘ กรีส ด้วยไม้วัดหลวง ให้มีพื้นที่เสมอกัน ณ สถานที่ในนิเวศน์ของตนแล้ว ให้เกลี่ยทราย โปรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ให้สร้างมณฑปมุงด้วยดอกอุบลขาบ ตกแต่งพุทธอาสน์ จัดอาสนะสำหรับพระภิกษุแม้ที่เหลือ เตรียมเครื่องสักการะสัมมานะใหญ่โต แล้วให้สัญญาณแก่สรทดาบส เพื่อทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า. ดาบสได้ฟังคำของสิริวัฑฒกุฏุมพีนั้นแล้ว จึงพาภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปยังนิเวศน์ของสิริวัฑฒกุฏุมพีนั้น. สิริวัฑฒกุฏุมพีกระทำการรับเสด็จ รับบาตรจากพระหัตถ์ของพระตถาคต

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 267

นิมนต์ให้เสด็จเข้าไปยังมณฑป ถวายน้ำทักษิโณทกแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ผู้นั่ง ณ อาสนะที่ตกแต่งไว้แล้ว เลี้ยงดูด้วยโภชนะอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตกิจ ให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ครองผ้าอันควรค่ามากแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความริเริ่มนี้ เพื่อต้องการฐานะ อันมีประมาณเล็กน้อยก็หามิได้ ขอพระองค์ทรงกระทำความอนุเคราะห์ตลอด ๗ วัน โดยทำนองนี้แหละ. พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว. สิริวัฑฒกุฎุมพีนั้น ยังมหาทานให้เป็นไปไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน โดยทำนองนั้น นั่นแหละ. แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนประคองอัญชลีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรทดาบส สหายของข้าพระองค์ปรารถนาว่า ขอให้เป็นอัครสาวกของพระศาสดาองค์ใด ข้าพระองค์ขอเป็นทุติยสาวก ของพระศาสดาองค์นั้นเหมือนกัน. พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า ล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป จากภัทรกัปนี้ไป ท่านจักเป็นทุติยสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า. สิริวัฑฒกุฏุมพีได้ฟังคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้ยินดีร่าเริง. ฝ่ายพระศาสดาทรงทำภัตตานุโมทนาแล้ว พร้อมทั้งบริวารเสด็จกลับไปยังพระวิหาร. จำเดิมแต่นั้นมา สิริวัฑฒกุฏุมพีกระทำกรรมงามตลอดชีวิต แล้วบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร ในวาระจิตที่สอง. สรทดาบสเจริญพรหมวิหาร ๔ ได้บังเกิดในพรหมโลก. จำเดิมแต่นั้นมา ท่านไม่พูดถึงกรรมในระหว่างแม้ของท่านทั้งสองนี้.

ก็ก่อนแต่การเสด็จบังเกิดขึ้น แห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย นั่นแล สรทดาบสถือปฏิสนธิในครรภ์ของสารีพราหมณีในบ้าน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 268

อุปติสสคาม ไม่ไกลกรุงราชคฤห์. ก็ในวันนั้นแหละ แม้สหายของสรทดาบสนั้นก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของโมคคัลลีพราหมณี ในบ้านโกลิตคาม อันไม่ไกลกรุงราชคฤห์เหมือนกัน. ได้ยินว่าตระกูลแม้ทั้งสองนั้น ได้เป็นสหายเกี่ยวเนื่องกันมา ๗ ชั่วตระกูลทีเดียว. ญาติทั้งหลายได้ให้การบริหารครรภ์แก่คนแม้ทั้งสองนั้น ในวันเดียวกัน ได้นำแม่นม ๖๖ คนเข้าไปให้แก่คนทั้งสองนั้น แม้ผู้ซึ่งเกิดแล้ว เมื่อล่วงไป ๑๐ เดือน. ในวันตั้งชื่อ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อบุตรของสารีพราหมณีว่า อุปติสสะ เพราะเป็นบุตรของหัวหน้าตระกูล ในบ้านอุปติสสคาม ตั้งชื่อบุตรนอกนี้ว่า โกลิตะ เพราะเป็นบุตรของหัวหน้าตระกูล ในบ้านโกลิตคาม. คนแม้ทั้งสองนั้น เจริญวัยขึ้นก็สำเร็จศิลปศาสตร์ทุกอย่าง.

ในเวลาไปยังแม่น้ำหรืออุทยานเพื่อจะเล่น อุปติสสมาณพมีวอทอง ๕๐๐ วอเป็นเครื่องแห่แหน โกลิตมาณพมีรถเทียมม้าอาชาไนย ๕๐๐ คันเป็นเครื่องแห่แหน ชนแม้ทั้งสองมีมาณพคนละ ๕๐๐ เป็นบริวาร. ก็ในกรุงราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขาเป็นประจำปี. ชนทั้งหลายผูกเตียงไว้ในที่เดียวกัน สำหรับมาณพแม้ทั้งสองนั้น แม้มาณพทั้งสองก็นั่งรวมกันดูมหรสพ ร่าเริงในฐานะที่ควรร่าเริง สังเวชในฐานะที่ควรสังเวช ตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล. วันหนึ่ง เมื่อชนทั้งสองนั้นดูมหรสพโดยทำนองนี้แหละ มิได้มีความร่าเริงในฐานะที่ควรร่าเริง สังเวชในฐานะที่ควรสังเวช หรือตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล เพราะญาณแก่กล้าแล้ว. ก็ชนแม้ทั้งสองต่างคิดอย่างนี้ว่า มีอะไรที่เราจะควรดูในมหรสพนี้

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 269

คนเหล่านี้แม้ทั้งหมด ยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ต่างก็จะล้มหายตายจากกันไป ก็เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรมสักอย่างหนึ่ง ดังนี้แล้ว นั่งนึกเอาเป็นอารมณ์อยู่ ลำดับนั้น โกลิตะกล่าวกะอุปติสสะว่า เพื่อนอุปติสสะ ท่านไม่สนุกร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ใจลอย ท่านคิดอะไรหรือ อุปติสสะกล่าวว่า เพื่อนโกลิตะ เรานั่งคิดถึงเรื่องนี้อยู่ว่า ในการดูของคนเหล่านี้ ไม่มีแก่นสารเลย การดูนี้ไม่มีประโยชน์ ควรแสวงหาธรรมเครื่องหลุดพ้นสำหรับตน ก็ท่านเล่า เพราะเหตุไรจึงใจลอย แม้โกลิตะนั้นก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน. ครั้นอุปติสสะรู้ว่าโกลิตะนั้น มีอัชฌาศัยอย่างเดียวกับตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า สิ่งที่เราแม้ทั้งสองคิดเป็นการคิดที่ดี เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรม ควรจะได้การบวชสักอย่างหนึ่ง ดังนั้น พวกเราจักบวชในสำนักใคร.

ก็สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ พร้อมกับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ มาณพทั้งสองนั้นตกลงว่า จักบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชกนั้น จึงบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน. จำเดิมแต่กาลที่มาณพทั้งสองนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้ลาภได้ยศเหลือหลาย. มาณพทั้งสองนั้น เรียนจบลัทธิของสัญชัยปริพาชกทั้งหมด โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น แล้วถามว่า ท่านอาจารย์ ลัทธิอันเป็นความรู้ของท่านมีเท่านี้ หรือมียิ่งขึ้นไปอีก. สัญชัยปริพาชกกล่าวว่า มีเท่านี้แหละ พวกท่านรู้หมดแล้ว. มาณพเหล่านั้นฟังถ้อยคำ ของสัญชัยปริพาชกนั้นแล้ว คิดกันว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสัญชัยปริพาชกนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ พวกเราออกบวชก็เพื่อ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 270

แสวงหาโมกขธรรม พวกเราไม่อาจให้เกิดขึ้นในสำนักของสัญชัยปริพาชกนี้ ก็ชมพูทวีปใหญ่โต พวกเราเที่ยวไปยังคามนิคม และราชธานี จักได้อาจารย์สักท่านหนึ่ง ผู้แสวงโมกขธรรมได้เป็นแน่ จำเดิมแต่นั้น มาณพทั้งสองนั้นได้ฟังว่า สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตมีอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ไป ณ ที่นั้นๆ กระทำการสนทนาปัญหา. ปัญหาที่มาณพทั้งนั้นถามแล้ว คนอื่นๆ ไม่มีความสามารถที่จะแก้ได้. แต่มาณพทั้งสองนั้น แก้ปัญหาของคนเหล่านั้นได้. มาณพทั้งสองนั้น เที่ยวสอบไปทั่วชมพูทวีป ด้วยอาการอย่างนี้ แล้วกลับมาที่อยู่เดิมของตน ได้ทำกติกากันว่า เพื่อนโกลิตะผู้ใดบรรลุอมตะก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน.

ก็สมัยนั้น พระศาสดาของเราทั้งหลายบรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ประกาศพระธรรมจักรอันบวร เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ. ครั้งนั้น พระอัสสชิเถระในจำนวนภิกษุปัญจวัคคีย์ ในระหว่างภิกษุทั้งหลาย ที่ทรงส่งไปประกาศคุณของพระรัตนตรัยว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ดังนี้ ในสมัยที่กล่าวว่า พระอรหันต์ ๖๑ องค์ อุบัติขึ้นแล้วในโลก ดังนี้ ท่านหวนกลับมายังกรุงราชคฤห์ ในวันรุ่งขึ้น ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตรยังกรุงราชคฤห์ แต่เช้าตรู่. สมัยนั้น อุปติสสปริพาชกทำภัตกิจแต่เช้ามืด แล้วเดินไปอารามปริพาชก ได้เห็นพระเถระจึงคิดว่า ชื่อว่าบรรพชิตเห็นปานนี้เราไม่เคยเห็นเลย ภิกษุนี้คงจะเป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ในบรรดาภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรคในโลก ถ้ากระไร เรา

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 271

ควรเข้าไปหาภิกษุนี้แล้วถามปัญหาว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชจำเพาะใคร หรือใครเป็นศาสดาของท่าน หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร. ลำดับนั้น เขาได้มีความคิดว่า มิใช่กาลที่จะถามปัญหากะภิกษุนี้ๆ เข้าไปยังละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ไฉนหนอเราพึงติดตามภิกษุนี้ไปข้างหลังๆ เพราะการติดตามภิกษุนี้ไปนั้น เป็นทางที่ผู้ต้องการเข้าไปรู้แล้ว. อุปติสสปริพาชก เห็นพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ไปยังโอกาสแห่งหนึ่ง และรู้ว่าพระเถระนั้นต้องการจะนั่ง จึงได้ลาดตั่งปริพาชกของตนถวาย แม้ในเวลาเสร็จภัตกิจ ก็ได้ถวายน้ำ ในคณโฑน้ำของตนแก่พระเถระนั้น กระทำอาจริยวัตรอย่างนี้แล้ว กระทำปฏิสันถารอ่อนหวาน กับพระเถระผู้กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ถามว่า ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ทั้งหลายของท่านผ่องใสนักแล ฉวีวรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวชจำเพาะใคร หรือใครเป็นศาสดาของท่าน หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พระมหาสมณะศากยบุตร ออกบวชจากศากยตระกูลมีอยู่ เราบวชจำเพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. ลำดับนั้น อุปติสสปริพาชก จึงถามพระเถระนั้นว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุ มีวาทะอย่างไร กล่าวอย่างไร. พระเถระคิดว่า ธรรมดาปริพาชกทั้งหลายนี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้ เมื่อจะถ่อมตนว่า เรายังเป็นผู้ใหม่จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ เราแลเป็นผู้ใหม่บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่มาสู่พระวินัยนี้ เราไม่อาจแสดงธรรมโดยพิสดารได้ก่อน. ปริพาชกคิดว่า เราชื่อว่า อุปติสสะ ท่านจง

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 272

กล่าวน้อยหรือมากตามความสามารถ การแทงตลอดธรรมนั่นด้วยร้อยนับพันนัย เป็นภาระของเรา จึงกล่าวว่า

อปฺปํ วา พหุํ วา ภาสสฺสุ อตฺถํเยว เม พฺรูหิ

อตฺเถเนว เม อตฺโถ กึ กาหสิ พฺยญฺชนํ พหุํ

ท่านจงกล่าวเถิด น้อยก็ตามมากก็ตาม จงกล่าวเฉพาะแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความเท่านั้น. ท่านจะทำพยัญชนะให้มากไปทำไม.

เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระจึงกล่าวคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺ ปภวา (ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด) ดังนี้เป็นต้น. ปริพาชกฟังเฉพาะ ๒ บทแรกเท่านั้น ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคอันสมบูรณ์ ด้วยนัยพันหนึ่ง. ทำ ๒ บทหลังให้จบลง ในเวลาเป็นพระโสดาบันแล้ว.ปริพาชกนั้นได้เป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อคุณวิเศษชั้นสูงยังไม่เกิดจึงกำหนดว่า เหตุในคำสอนนี้จักมี จึงกล่าวกะพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าขยายธรรมเทศนาให้สูงไป คำมีประมาณเท่านี้แหละพอแล้ว พระศาสดาของเราทั้งหลายประทับอยู่ที่ไหน. พระเถระบอกว่า ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน. ปริพาชกกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงล่วงหน้าไปก่อน กระผมมีสหายอยู่คนหนึ่ง และได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตะก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน กระผมจักเปลื้องปฏิญญาข้อนั้น แล้วพาสหายไปยังสำนักของพระศาสดา ตามทางที่ท่านไปนั่นแหละ แล้วหมอบลงแทบเท้าพระเถระ ด้วยเบญจางค-

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 273

ประดิษฐ์ กระทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วส่งพระเถระไป ส่วนตนก็เดินมุ่งตรงไปยังอารามของปริพาชก โกลิตปริพาชกเห็นอุปติสสปริพาชกเดินมาแต่ไกล คิดว่า วันนี้หายเรามีสีหน้าไม่เหมือนวันก่อนๆ เขาจักได้บรรลุอมตะแน่แท้ จึงถามถึงการบรรลุอมตะ. แม้อุปติสสปริพาชกนั้น ก็ได้ปฏิญญาแก่โกลิตปริพาชกนั้นว่า ผู้มีอายุ เราบรรลุอมตะแล้ว จึงได้กล่าวคาถานั้น นั่นแหละ. ในเวลาจบคาถา โกลิตะตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวว่า สหาย ได้ยินว่าพระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน. อุปติสสะกล่าวว่า สหาย นัยว่าพระศาสดาประทับอยู่ในพระเวฬุวัน. พระอัสสชิเถระอาจารย์ของพวกเราบอกอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. โกลิตะกล่าวว่า สหาย ถ้าอย่างนั้นมาเถิด พวกเราจักเฝ้าพระศาสดา. ธรรมดาว่าพระสารีบุตรเถระนี้ เป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ในกาลทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวกะโกลิตมาณพผู้สหายอย่างนี้ว่า สหาย เราจักบอกอมตะที่เราบรรลุ แม้แก่สัญชัยปริพาชกอาจารย์ของเรา ท่านรู้อยู่ก็จักแทงตลอด เมื่อไม่แทงตลอดเชื่อพวกเรา ก็จักไปยังสำนักของพระศาสดา ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว จักกระทำการแทงตลอดมรรคผล. แต่นั้น ชนแม้ทั้งสองไปยังสำนักของสัญชัยกล่าวว่า อาจารย์ขอรับ ท่านจักทำอย่างไร พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว มาเถิด พวกเราจักเฝ้าพระทศพล. สัญชัยปริพาชกกล่าวว่า พูดอะไรพ่อ แล้วห้ามชนทั้งสองแม้นั้น แสดงแต่การได้ลาภอันเลิศและยศอันเลิศเท่านั้น แก่ชนทั้งสองนั้น. ชนทั้งสองนั้นกล่าวว่า การอยู่เป็นอันเตวาสิก เห็นปานนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นประจำไปทีเดียว จงยกเสียเถิด

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 274

แต่ท่านจงรู้ตัวท่านว่าจะไปหรือไม่ไป. สัญชัยปริพาชกรู้ว่า ชนเหล่านี้รู้ความต้องการมีประมาณเท่านี้แล้ว จักไม่เชื่อถือคำพูดของเรา จึงกล่าวว่า ไปเถิดพ่อทั้งหลาย เราไม่อาจอยู่เป็นอันเตวาสิก (ของตนอื่น) ในคราวเป็นคนแก่. ชนทั้งสองนั้น ไม่อาจให้สัญชัยปริพาชกนั้นเข้าใจด้วยเหตุ แม้เป็นอันมาก จึงได้พาชนผู้ประพฤติตามโอวาทของตน ไปยังพระเวฬุวัน. ครั้งนั้น ในบรรดาอันเตวาสิก ๕๐๐ คนของชนทั้งสองนั้น ๒๕๐ คนกลับ อีก ๒๕๐ คนได้ไปกับชนทั้งสองนั้น.

พระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ ทรงเห็นชนเหล่านั้นแต่ไกล จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ภิกษุทั้งหลาย สหาย ๒ คนนั้น คือโกลิตะและอุปติสสะกำลังเดินมา คู่สาวกนี้แหละจักเป็นคู่สาวกที่เลิศที่เจริญ ครั้นแล้วทรงขยายพระธรรมเทศนา เนื่องด้วยจริยาแห่งบริษัทของ ๒ สหายนั้น. เว้นพระอัครสาวกทั้งสอง ปริพาชก ๒๕๐ คนแม้ทั้งหมดนั้น บรรลุพระอรหัต พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด. ผมและหนวดของปริพาชกเหล่านั้น หายไป บาตร และจีวรอันล้วนแล้วด้วยฤทธิ์ ก็ได้มีมาแม้แก่พระอัครสาวกทั้งสองด้วย แต่กิจด้วยมรรคทั้ง ๓ เบื้องสูง ยังไม่สำเร็จ. เพราะเหตุไร? เพราะสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่. ครั้นในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันบวช ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคาม แคว้นมคธ กระทำสมณธรรมอยู่เมื่อถูกถีนมิทธะครอบงำ พระศาสดาทรงทำให้สังเวชใจ บรรเทาถีนมิทธะเสียได้ กำลังฟังธาตุกรรมฐานที่พระตถาคตประทาน

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 275

อยู่ทีเดียว ทำกิจแห่งมรรค ๓ เบื้องสูงให้สำเร็จถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ. แม้พระสารีบุตรเถระล่วงเลยเวลาไปครึ่งเดือน ตั้งแต่วันบวช เข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์นั้น นั่นแหละ อยู่ในถ้ำสุกรขาตากับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคหสูตร แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ได้ส่งญาณไปตามกระแสพระสูตร ก็ได้บรรลุถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ เหมือนบริโภคข้าวที่คดไว้เพื่อคนอื่น ส่วนหลานของท่านตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในเวลาจบเทศนา. ดังนั้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ นั่นแล กิจแห่งสาวกบารมีญาณของพระอัครสาวก แม้ทั้งสอง ได้ถึงที่สุดแล้ว. ก็ในเวลาต่อมาอีก พระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ได้ทรงสถาปนาพระมหาสาวก แม้ทั้งสองไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า สารีบุตรเป็นยอดของภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปัญญามาก มหาโมคคัลลานะเป็นยอดของภิกษุสาวกของเรา ผู้มีฤทธิ์มาก ดังนี้.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒ - ๓