พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๖ ประวัติพระภัททิยกาฬิโคธาบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38341
อ่าน  407

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 316

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ประวัติพระภัททิยกาฬิโคธาบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 316

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ประวัติพระภัททิยกาฬิโคธาบุตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อุจฺจากุลิกานํ ความว่า ผู้เกิดในตระกูลสูง. บทว่า ภทฺทิโย ได้แก่ เจ้าศากยะผู้เป็นพระราชาออกผนวชพร้อมกับพระอนุรุทธเถระ. บทว่า กาฬิโคธายปุตฺโต ความว่า พระเทวีนั้นเป็นผู้มีผิวดำ. ส่วนคำว่า โคธา เป็นนามของพระเทวีนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า นางกาฬิโคธา อธิบายว่า เป็นบุตรของนางกาฬิโคธาเทวีนั้น ถามว่า ก็พระเถระนี้ท่านกล่าวว่า เป็นยอดของภิกษุสาวกผู้มีตระกูลสูง เพราะเหตุไร ผู้ที่มีตระกูลสูงกว่าพระภัททิยะนั้นไม่มีหรือ. ตอบว่า ไม่มี จริงอยู่ พระมารดาของท่านเป็นใหญ่ที่สุดของเจ้าทั้งหมด โดยวัย ในระหว่างเจ้าสากิยานีทั้งหลาย ท่านสละราชสมบัติ ที่มาถึงในสากิยสกุลอย่างนั้นออกผนวช เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นยอดของภิกษุผู้มีตระกูลสูงทั้งหลาย. อีกประการหนึ่ง พระภัททิยะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งความปรารถนาในปางก่อน บังเกิดในราชตระกูลแล้วครองราชสมบัติถึง ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกันมาโดยลำดับ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า พระภัททิยะนั้น เป็นยอดของภิกษุผู้มีตระกูลสูง ก็ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 317

ความพิสดารว่า ในอดีตกาล แม้พระภัททิยะนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในสกุลมีโภคสมบัติมาก ไปฟังพระธรรมตามนัยที่กล่าวแล้ว นั่นแล ในวันนั้นได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตดังนี้ จึงนิมนต์พระตถาคตถวายมหาทาน แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน หมอบแทบบาทมูล ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอย่างอื่น ด้วยผลแห่งทานนี้ แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคต เล็งเห็นความสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า กรรมนี้ของท่านจักสำเร็จในที่สุด แห่งแสนกัปแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระองค์ ดังนี้แล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาภัตแล้ว เสด็จกลับวิหาร ครั้นท่านได้ฟังพยากรณ์แล้ว จึงทูลถามกรรมที่จะให้เป็นไปสำหรับภิกษุผู้เกิดในตระกูลสูง ได้กระทำกรรมอันดีงามมากมาย จนตลอดชีวิตอย่างนี้คือ สร้างธรรมาสน์ปูลาดเครื่องลาดบนธรรมาสน์นั้น พัดสำหรับผู้แสดงธรรม รายจ่ายสำหรับพระธรรมกถึก โรงอุโบสถ กระทำกาละในอัตตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ในระหว่างพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ และพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา มาบังเกิดในเรือนของกุฏุมพีในกรุงพาราณสี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 318

สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์ มาแต่ภูเขาคันธมาทน์ นั่งฉันบิณฑบาตในที่ๆ สะดวกสบาย ใกล้ฝั่งแม่นํ้าคงคา เขตกรุงพาราณสี กุฎุมพีนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น กระทำการแบ่งปันภัตรนั้น ในที่ตรงนั้น เป็นประจำทีเดียว จึงลาดแผ่นหินไว้ ๘ แผ่น บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย อยู่จนตลอดชีพตอนนั้น ท่านเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ ถึงพุทธันดรหนึ่ง ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงมาบังเกิดในขัตติยสกุล ในกรุงกบิลพัสดุ์ และในวันขนานนาม พวกญาติทั้งหลาย ขนานนามของท่านว่า ภัททิยกุมาร ภัททิยกุมารนั้น อาศัยบุญเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งในระหว่างกษัตริย์ ๖ พระองค์ ตามนัยที่กล่าวไว้ในอนุรุทธสูตร ในหนหลังเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน ทรงผนวชในสำนักของพระศาสดา แล้วได้บรรลุพระอรหัต ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ในเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภัททิยะโอรสของพระนางกาฬิโคธา เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีตระกูลสูงในศาสนาของเรา.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๖