พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๙ ประวัติพระสีวลีเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38353
อ่าน  590

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 381

อรรถกถาสูตรที่ ๙

ประวัติพระสีวลีเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 381

อรรถกถาสูตรที่ ๙

ประวัติพระสีวลีเถระ

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ลาภีนํ ยทิทํ สีวลี ทรงแสดงว่า เว้นพระตถาคต พระสีวลีเถระเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภ ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวโดยลำดับ ดังต่อไปนี้

แม้พระเถระนี้ในอดีต ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ไปพระวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท โดยนัยที่กล่าวแล้ว นั่นเทียว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่ง เป็นยอดของเหล่าภิกษุมีลาภ คิดว่า แม้เราก็ควรเป็นผู้มีอย่างนั้น เป็นรูปในอนาคต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 382

จึงนิมนต์พระทศพลถวายมหาทาน ๗ วัน กระทำความปรารถนาว่าด้วย การกระทำกุศลนี้ แม้ข้าพระองค์ ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีลาภเหมือนอย่างภิกษุ ที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล พระศาสดาทรงเห็นว่า ไม่มีอันตรายสำหรับเธอ จึงทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านนี้ จักสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะ ในอนาคตแล้ว เสด็จกลับไป กุลบุตรนั้น การทำกุศลตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า กุลบุตรนั้น บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีพ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า มาถือปฏิสนธิในบ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลกรุงพันธุมดี สมัยนั้น ชาวเมืองพันธุมดี สั่งสนทนากับพระราชา ถวายทานแด่พระทศพล วันหนึ่ง คนเหล่านั้น ร่วมกันเป็นอันเดียวทั้งหมด ถวายทาน คิดว่า ในมุขคือทานของพวกเรา ไม่มีอะไรบ้างหนอ ดังนี้ ไม่ได้เห็นน้ำผึ้งแลเนยแข็งแล้ว คนเหล่านั้นจึงวางบุรุษไว้ดัก ในทางจากชนบทเข้าไปเมือง ด้วยตั้งใจว่าจักนำของ ๒ อย่างนั้น จากข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้างมา ในครั้งนั้น กุลบุตรนี้ ถือเอากระบอกเนยแข็ง มาจากบ้านของตนคิดว่า จักนำมาหน่อหนึ่งเท่านั้น เมื่อไปถึงพระนครก็มองหาที่ที่สบาย ด้วยตั้งใจว่าจะล้างปาก ล้างมือ และเท้าแล้ว จึงเข้าไป เห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัวเท่ากับงอนไถ คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเรา จึงถือเอาแล้ว เข้าไปสู่นคร บุรุษที่ชาวเมืองวางดักไว้ เห็นกุลบุตรนั้น จึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านนำน้ำผึ้งมาให้ใคร เขาตอบว่า ไม่ได้นำมาให้ใครดอกนายท่าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 383

ก็น้ำผึ้งที่ท่านนำมานี้ ขายให้แก่เราเถอะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถือเอากหาปณะนี้ไป แล้วจงให้น้ำผึ้ง และเนยแข็งนั้นเถอะ กุลบุตรนั้นคิดว่า ของนี้ใช่ว่ามีราคามาก และบุรุษนี้จะให้มากก็คราวเดียวเท่านั้น ควรจะลองดู บุรุษนั้น กล่าวว่า เราไม่ให้ด้วยกหาปณะเดียว แล้วกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับเอา ๒ กหาปณะแล้วจงให้ กุลบุตรนั้นตอบว่า ๒ กหาปณะก็ไม่ให้ บุรุษนั้นจึงเพิ่มโดยอุบายนี้และเรื่อยๆ จนถึงพันกหาปณะ กุลบุตรนั้นจึงคิดว่า เราไม่ควรจะลวงเขา ช่างก่อนเถิด เราจำจะถามกิจที่จะพึงทำของบุรุษนี้ ทีนั้น เขาจึงกล่าวกะบุรุษนั้นว่า ของนี้ไม่มีค่ามาก แต่ท่านให้มาก ท่านจะเอาสิ่งนี้ไปด้วยกิจกรรมอะไร บุรุษนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ชาวเมืองในเมืองนี้ ขัดแย้งกับพระราชา ถวายทานแด่พระวิปัสสีทศพล เมื่อไม่เห็นของ ๒ สิ่งนี้ ในบุญคือทาน จึงพากันแสวงหา ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ ชาวเมืองก็จักพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าให้พันหนึ่งแล้วจงรับเอา เขากล่าวว่า ของสิ่งนี้ ควรให้แก่ชาวเมืองเท่านั้น หรือควรให้แก่ชนเหล่าอื่น ท่านจะให้ของที่ท่านนำมานี้แก่คนใดคนหนึ่งหรือ

กุ. ก็มีใครให้ทรัพย์พันหนึ่ง ในวันเดียว ในทานของชาวเมืองล่ะ.

บุ. ไม่มีดอกสหาย

กุ. ก็ท่านรู้ว่าของ ๒ สิ่งนี้ มีค่าพันหนึ่งหรือ.

บุ. จ้ะฉันรู้

กุ. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปบอกแก่ชาวเมืองเถิดว่า บุรุษ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 384

คนหนึ่งไม่ให้ของ ๒ สิ่งนี้ ด้วยราคา (แต่) ประสงค์จะให้ด้วยมือของตนเอง พวกท่านอย่าวิตก เพราะเหตุแห่งของ ๒ สิ่งนี้เลย.

บุ. ก็ท่านจงเป็นกายสักขีประจักษ์พยาน แห่งความเป็นหัวหน้ามุข คือทานของเราเถิด.

บุรุษนั้น เอามาสกที่ตนเก็บไว้เพื่อใช้สอยที่บ้าน ซื้อของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง บดจนละเอียด กรองคั้น เอาน้ำส้มจากนมส้มแล้ว คั้นรวงผึ้งลงในนั้น ปรุงกับผงเครื่องเผ็ดร้อน ๕ อย่างแล้ว ใส่ไว้ในใบบัวใบหนึ่ง จัดห่อนั้นแล้วถือมานั่ง ณ ที่ไม่ไกลพระทศพล คอยดูวาระที่ถึงตน ในระหว่างเครื่องสักการะ ที่มหาชนนำมา ทราบโอกาสแล้ว จึงไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคต ปัณณาการของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกรุณารับของสิ่งนี้ ของข้าพระองค์เถิด พระศาสดาทรงอาศัยความเอ็นดูแก่บุรุษนั้น ทรงรับปัณณาการนั้น ด้วยบาตรหิน ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ทรงอธิษฐานโดยอาการ ที่เครื่องปัณณาการนั้น ถวายแก่ภิกษุถึง ๖๘,๐๐๐ องค์ ก็ไม่สิ้นเปลืองไป กุลบุตรแม้นั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันนี้ชาวเมืองพันธุมดี นำสักการะมาถวายพระองค์ แม้ข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ถึงความเป็นยอดทางลาภ และเป็นยอดทางยศ ในภพที่เกิดแล้ว ด้วยผลแห่งกรรมนี้". พระศาสดาตรัสว่า ความปรารถนาจงสำเร็จอย่างนั้นเถิดกุลบุตร, แล้วทรงกระทำอนุโมทนาภัตร แก่กุลบุตรนั้น และแก่ชาวเมืองแล้ว เสด็จกลับไป.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 385

ฝ่ายกุลบุตรนั้น กระทำกุศลจนตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ มาถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระราชธิดา พระนามว่า สุปปวาสา ในพุทธุบาทกาลนี้ ตั้งแต่เวลาถือปฏิสนธิ พระนางสุปปวาสารับเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ ทั้งเช้าทั้งเย็น ครั้งนั้น พวกพระญาติต้องการจะทดลองบุญ จึงให้พระนางนั้น เอาพระหัตถ์ถูกต้องกระเช้าพืช หน่อออกมาจากพืชชนิดหนึ่งๆ ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง ข้าวเกิดขึ้นจากนากรีสหนึ่ง ๕๐ เกวียนบ้าง ๖๐ เกวียนบ้าง แม้เวลาจะทำยุ้งฉางให้เต็ม ก็ทรงเอาพระหัตถ์ถูกต้องประตูยุ้งฉาง ที่ตรงที่พระราชธิดาจับแล้ว จับอีก ก็กลับเต็มอีกเพราะบุญ เมื่อคนทั้งหลายกล่าวว่า "บุญของพระราชธิดา" แล้วคดจากหม้อที่มีข้าวสวยเต็ม ให้แก่คนใดคนหนึ่ง ยังไม่ยกพระหัตถ์ออกเพียงใด ข้าวสวยก็ไม่สิ้นเปลืองไปเพียงนั้น.

เมื่อทารกอยู่ในครรภ์นั่นเอง เวลาล่วงไปถึง ๗ ปี แต่เมื่อครรภ์แก่ นางเสวยทุกข์ใหญ่อยู่ถึง ๗ วัน นางปรึกษาสามีว่า ก่อนแต่จะตาย ฉันจะถวายทานทั้งที่มีชีวิตอยู่เทียว จึงส่งสามีไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยกล่าวว่า ท่านจงไปกราบทูลเรื่องนี้ แด่พระศาสดา แล้วนิมนต์พระศาสดา อนึ่งพระศาสดาตรัสคำใด ท่านจงตั้งใจกำหนดคำนั้นให้ดี แล้วกลับมาบอกฉัน สามีไปแล้ว กราบทูลข่าวแด่พระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกฬิยธิดาจงมีความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระราชาทรงสดับข่าวนั้น จึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 386

พระนางสุปปวาสาง่าย เหมือนน้ำออกจากที่กรงน้ำ ฉะนั้น คนที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดี แด่พระราชา พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้น ทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสแล้ว เห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์เสด็จมา กราบทูลข่าวของพระราชธิดา แด่พระทศพล พระราชธิดาตรัสว่า อาหารสำหรับคน เป็นที่พระองค์นิมนต์ไว้ จักเป็นอาหารที่เป็นมงคล ขอพระองค์จงไปนิมนต์พระทศพล ๗ วันเถิด เพคะ. พระราชาทรงกระทำ ดังนั้น ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน ทารกดับจิตที่เร่าร้อน ของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติ จึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า "สีวลีทารก" สีวลีทารกนั้น เป็นผู้ทนกรรมทุกอย่างตั้งแต่เกิด เพราะอยู่ในพระครรภ์ถึง ๗ ปี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ได้สนทนาปราศรัยกับสีวลีนั้น ในวันที่ ๗ แม้พระศาสดา ได้ทรงภาณิตคาถาในธรรมบทว่า

โย อิมํ ปลิปถํ ทุคฺคํ สํสารํ โมหมจฺจคา

ติณฺโณ ปารคโต ฌายี อเนญฺโช อกถํกถี

อนุปาทาย นิพฺพุตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

ผู้ใดข้ามทางอันตราย คือ สงสารอันข้ามได้ยากนี้ ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้มีอันเพ่งฌาน ก้าวล่วงโอฆะ ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 387

คราวนั้น พระเถระกล่าวกะสีวลีทารกนั้น อย่างนี้ว่า ก็เธอได้เสวยกองทุกข์เห็นปานนี้แล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลี. ตอบว่าผมเมื่อได้ก็พึงบวช ท่านผู้เจริญ พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้น พูดอยู่กับพระเถระ คิดว่า บุตรของเราพูดอะไรหนอ กับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่าน พูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ ที่ตนเสวยแล้ว กล่าวว่า ท่านอนุญาตแล้วจักบวช พระนางสุปปวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เมื่อจะให้บรรพชากล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปี นั่นแหละ สีวลีกล่าวว่า การให้บวชเท่านั้น เป็นหน้าที่ของท่าน ส่วนผมจักรู้กิจที่ผมทำได้. สีวลีนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในขณะที่โกนผมปอยแรก ที่เขาโกนแล้ว นั่นเอง ขณะโกนปอยที่ ๒ ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็การโกนผมหมด และการกระทำให้แจ้งพระอรหัตได้มี ไม่ก่อนไม่หลังกัน ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว ปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์ พอแก่ความต้องการ. เรื่องตั้งขึ้นในที่นี้ ด้วยประการนี้.

ต่อมา พระศาสดาได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี พระเถระถวายบังคม พระศาสดาแล้วทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ โปรดประทานภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์. ตรัสว่า รับไปเถอะสีวลี. เทวดาที่สิงอยู่ ณ ต้นนิโครธได้เห็นทีแรก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 388

ได้ถวายทานแด่พระเถระนั้นถึง ๗ วัน

ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

นิโคฺรชฺ ปมํ ปสฺสิ ทุตฺยํ ปณฺฑวปพฺพตํ

ตติยํ อจิรวติยํ จตุตฺถํ วรสาครํ

ปญฺจมํ หิมวนฺตํ โส ฉฏํ ฉทฺทนฺตุปาคมิ

สตฺตมํ คนฺธมาทนํ อฏฺมํ อถ เรวตํ

เห็นครั้งแรก ที่ต้นนิโครธ

เห็นครั้งที่ ๒ ภูเขาปัณฑวะ

ครั้งที่ ๓ แม่น้ำอจิรวดี

ครั้งที่ ๔ ทะเล

ครั้งที่ ๕ ป่าหิมพานต์

ครั้งที่ ๖ สระฉันทันต์

ครั้งที่ ๗ ภูเขาคันธมาทน์

ครั้งที่ ๘ ไปอยู่ที่พระเรวตะ

ในที่ทุกแห่ง เทวดาได้ถวายทานแห่งละ ๗ วันๆ ก็ที่ภูเขาคันธมาทน์ ท้าวเทวราช ชื่อ นาคทัต ใน ๗ วัน ได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยน้ำนมวันหนึ่ง, ได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยเนยใสวันหนึ่ง, ภิกษุสงฆ์กล่าวว่า ผู้มีอายุ แม้โคนมของเทวราชนี้ ไม่ปรากฏที่เขารีดน้ำนม การคั้นเนยใสก็ไม่มี. ข้าแต่เทวราช ผลอันนี้เกิดขึ้นแก่พระองค์ มาได้อย่างไร. ท้าวเทวราชกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า นี้เป็นผลแห่งการถวายสลากภัตร เจือน้ำนมแด่พระทศพล ครั้งพระทศพลกัสสปพุทธเจ้า ภายหลังพระศาสดา ทรงกระทำการ ที่เทวดากระทำการต้อนรับพระเถระนั้น ผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ถึงความมีลาภอย่างเลิศ ในศาสนาของพระองค์.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๙