พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๘ ประวัติพระนันทเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38374
อ่าน  406

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 479

อรรถกถาสูตรที่ ๘

ประวัติพระนันทเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 479

อรรถกถาสูตรที่ ๘

ประวัติพระนันทเถระ

ในสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวารานํ ท่านแสดงว่า ท่านพระนันทเถระ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ๖. ความจริง พระสาวกทั้งหลายของพระศาสดา ชื่อว่า ไม่คุ้มครองทวาร ไม่มีก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านพระนันทเถระ ต้องการจะมองทิศใดๆ ในทิศทั้ง ๑๐ ก็มิใช่มองทิศนั้นๆ อย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่กล่าวตามลำดับ ดังนี้.

พระเถระรูปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว กำลังฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระมหาปชาบดีโคตมี กรุงกบิลพัศดุ์. ครั้งนั้น ในวันรับพระนาม ท่านทำหมู่พระประยูรญาติให้ร่าเริงยินดี เพราะเหตุนั้น เหล่าพระประยูรญาติ จึงขนานพระนามของท่านว่า นันทกุมาร. แม้พระมหาสัตว์ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ประกาศพระธรรมจักร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 480

อันประเสริฐ. ทรงอนุเคราะห์โลก เสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปสู่กรุงกบิลพัศดุ์ ทรงทำพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โดยทรงเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น วันรุ่งขึ้น เสด็จไปพระราชนิเวศน์ของพระพุทธบิดา ประทานโอวาทแก่พระมารดาของพระราหุล ตรัสธรรมแก่ชนนอกนั้น วันรุ่งขึ้น เมื่องานอาวาหมงคลอัญเชิญนันทกุมารเข้าเรือนอภิเษกกำลังดำเนินไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปนิเวศน์ของนันทกุมารนั้น ทรงให้นันทกุมารถือบาตร เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปพระวิหาร เพื่อให้เขาบรรพชา งานมงคลอภิเษก ก็กีดกันนันทกุมารอย่างนั้นไม่ได้ เวลานันทกุมารถือบาตรตามเสด็จ ชนบทกัลยาณีเจ้าสาวก็ขึ้นปราสาทชั้นบน เผยสีหบัญชร ร้องสั่งว่า พระลูกเจ้าโปรดกลับมาเร็วๆ นันทกุมารนั้น ได้ยินเสียงนาง ก็ได้แต่แลดูด้วยใจรัญจวน ไม่อาจทำนิมิตหมายตอบได้ตามชอบใจ เพราะเคารพในพระศาสดา. ด้วยเหตุนั้น นันทกุมารนั้น จึงร้อนใจ. ขณะนั้นนันทกุมารก็คิดอย่างเดียวว่า พระศาสดาจักให้กลับตรงนี้ พระศาสดาจักให้กลับตรงนี้ พระศาสดาก็ทรงนำไปพระวิหารให้บรรพชา. นันทกุมารแม้บรรพชาแล้ว ก็ขัดไม่ได้ ได้แต่นิ่งเสีย นับแต่วันบรรพชาแล้ว ก็ยังคงระลึกถึงคำพูดของนางชนบทกัลยาณีอยู่นั่นเอง ขณะนั้น เหมือนกับนางชนบทกัลยาณีนั้น มายืนอยู่ไม่ไกล นันทกุมารนั้น ถูกความกระสัน อยากลาสิกขา บีบคั้นหนักๆ เข้า ก็เดินไปหน่อยหนึ่ง เมื่อเดินผ่านพุ่มไม้หรือกอไม้ ก็เหมือนกับพระทศพลมาประทับยืนอยู่เบื้องหน้า ท่านเป็นเหมือนขนไก่ ที่เอาใส่กองไฟ จึงกลับเข้าไปที่อยู่ของตน

พระศาสดาทรงพระดำริว่า นันทะอยู่อย่างประมาทเหลือเกิน ไม่อาจระงับความกระสันสึกได้ จึงควรทำการดับความร้อนจิตของเธอ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 481

เสีย แต่นั้นก็ตรัสกะท่านนันทะว่า มานี่นันทะ เราจักไปจาริกเทวโลกด้วยกัน พระนันทะทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักไปสถานที่ที่เหล่าท่านผู้มีฤทธิ์ไปกันได้อย่างไร ตรัสตอบว่า เธอจงทำจิตคิดจะไปอย่างเดียว ไปแล้วก็จักเห็น. ท่านพระนันทะนั้น ตามเสด็จจาริกไปเทวโลกกับพระตถาคต โดยอานุภาพของพระทศพล แลดูเทวนิเวศน์ของท้าวสักกเทวราช ก็เห็นเทพอัปสร ๕๐๐ นาง พระศาสดาทรงเห็นท่านพระนันทเถระ แลดูโดยศุภนิมิต จึงตรัสถามว่านันทะ เทพอัปสรเหล่านี้ หรือนางชนบทกัลยาณีเป็นที่น่าพอใจ. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณี เทียบเทพอัปสรเหล่านี้แล้ว จะปรากฏเหมือนกับนางวานรที่หูจมูกแหว่ง พระเจ้าข้า. ตรัสว่า นันทะเทพอัปสรอย่างนี้ ได้ไม่ยากเลย สำหรับผู้ทำสมณธรรม. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันแก่ข้าพระองค์ข้าพระองค์ก็จักทำสมณธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นันทะเธอจงวางใจได้ เธอจงทำสมณธรรมไปเถิด ถ้าเธอจักทำกาละ (ตาย) อย่างสัตว์มีปฏิสนธิ เราก็รับประกันว่า จะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้น.

ดังนั้น พระศาสดาเสด็จจาริกไปเทวโลก ตามพุทธอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จกลับมาพระเชตวันอย่างเดิม. ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระนันทเถระก็กระทำสมณธรรมทั้งกลางคืน ทั้งกลางวัน เพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสร. พระศาสดาทรงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า ในสถานที่อยู่ของนันทะ พวกเธอจงเที่ยวพูดในที่นั้นๆ ว่า เขาว่าภิกษุรูปหนึ่ง ให้พระทศพลรับประกันแล้ว จึงทำสมณธรรม เพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสรทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ก็เที่ยวพูดว่า เขาว่า ท่านนันทะเป็นลูกจ้าง เขาว่า ท่านนันทะถูกซื้อมา ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 482

เหตุอยากได้นางเทพอัปสรทั้งหลาย เขาว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันท่านนันทะนั้น ที่จะได้นางเทพอัปสร ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้าเหมือนไก่ (๑) ภิกษุเหล่านั้น ยืนในที่ใกล้ๆ นันทะ พอจะเห็นพอจะได้ยิน เที่ยวพูดไปท่านพระนันทเถระ ได้ยินเรื่องนั้น คิดว่า ภิกษุพวกนี้ ไม่พูดถึงผู้อื่นพูดปรารภถึงเรา การกระทำของเราไม่ถูกแน่แล้ว ก็คิดทบทวนแล้วเจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัต. ขณะที่ท่านบรรลุพระอรหัต นั่นแล เทวดาองค์หนึ่ง ก็ทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทราบด้วยพระองค์เอง. วันรุ่งขึ้น ท่านพระนันทเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับประกันข้าพระองค์ เพื่อจะได้นางเทพอัปสร ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้าเหมือนไก่อันใด ข้าพระองค์ขอเปลื้องพระผู้มีพระภาคเจ้า จากปฏิสสวะการรับคำนั้น พระเจ้าข้า. เรื่องเกิดขึ้นอย่างว่ามานี้. ต่อมาภายหลังพระศาสดา ประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย แล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๘


(๑) ปาฐะว่า กุกฺกุฏปาทานํ พม่าเป็น กกุปาทีนํ แปลว่า มีเท้าเหมือนนกพิราบ ซึ่งในที่อื่นมีใช้ว่า กาโปตก ซึ่งแปลว่านกพิราบ เหมือนกัน