พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๓ ประวัติพระอุบลวรรณาเถรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38384
อ่าน  694

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 12

อรรถกถาสูตรที่ ๓

ประวัติพระอุบลวรรณาเถรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุคตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 12

อรรถกถาสูตรที่ ๓

๓. ประวัติพระอุบลวรรณาเถรี

ในสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อุปฺปลวณฺณา ได้แก่ พระเถรีมีชื่ออย่างนี้ ก็เพราะประกอบด้วยผิวพรรณเสมือนห้องดอกอุบลขาบ.

ได้ยินว่า พระอุบลวรรณาเถรีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัวในกรุงหังสวดี ภายหลังไปสำนักพระศาสดาพร้อมกับมหาชน กำลังฟังธรรมอยู่ เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ถือปฏิสนธิในราชนิเวศน์ของพระราชาพระนามว่ากิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระธิดาอยู่ในระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ทำบริเวณถวายภิกษุสงฆ์ บังเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกนั้นไปสู่มนุษยโลกอีก บังเกิดในถิ่นของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง วันหนึ่งนางไปยังกระท่อมในนา ระหว่างทางเห็นดอกปทุมบานแต่เช้าตรู่ในสระแห่งหนึ่ง ลงสระนั้นแล้วเก็บดอกปทุมนั้นและใบของปทุมเพื่อใส่ข้าวตอก เด็ดรวงข้าวสาลีใกล้คันนา นั่งในกระท่อมคั่วข้าวตอก นับได้ ๕๐๐ ดอก. ขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์ มายืนไม่ไกลนาง. นางแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ถือ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 13

ดอกปทุมพร้อมทั้งข้าวตอกลงจากกระท่อม ใส่ข้าวตอกในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า ปิดบาตรด้วยดอกปทุมถวาย. ครั้งนั้น เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปได้หน่อยหนึ่ง นางก็คิดว่า ธรรมดาเหล่าบรรพชิตไม่ต้องการดอกไม้ จำเราจักไปเอาดอกไม้มาประดับ แล้วไปเอาดอกไม้จากมือพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วคิดอีกว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการดอกไม้ไซร้ ท่านจะไม่ให้วางดอกไม้นั้นไว้บนบาตร พระผู้เป็นเจ้าจักต้องการแน่แท้ แล้วไปวางไว้บนบาตรอีก ขอขมาแล้วทำความปรารถนาว่า พระคุณเจ้า เจ้าข้า ด้วยผลานิสงส์ของข้าวตอกเหล่านี้ ขอจงมีบุตรเท่าจำนวนข้าวตอก ด้วยผลานิสงส์ของดอกปทุม ขอดอกปทุมจงผุดทุกย่างก้าวของดิฉันในสถานที่เกิดแล้ว. ทั้งที่นางเห็นอยู่นั่นแล พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศ วางดอกปทุมนั้นไว้สำหรับเช็ดเท้า ใกล้บันไดที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหยียบ ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ ด้วยผลทานนั้น นางถือปฏิสนธิในเทวโลก. จำเดิมแต่เวลาที่นางเกิด. ดอกปทุมขนาดใหญ่ก็ผุดขึ้นทุกๆ ย่างก้าวของนาง.

นางจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็บังเกิดในห้องของดอกปทุม ในสระปทุมแห่งหนึ่งใกล้เชิงเขาที่ดาบสองค์หนึ่งอาศัยเชิงเขาอยู่. ดาบสนั้นไปสระแต่เช้าตรู่เพื่อล้างหน้า เห็นดอกไม้นั้นแล้วก็คิดว่า ดอกนี้ใหญ่กว่าดอกอื่นๆ ดอกอื่นๆ บาน ดอกนี้ยังตูมอยู่ คงจะมีเหตุในดอกนั้น แล้วจึงลงน้ำ จับดอกนั้น. พอดาบสนั้นจับเท่านั้น มันก็บาน. ดาบสเห็นเด็กหญิงนอนอยู่ภายในห้องปทุม ได้ความสิเนหาดังธิดานับแต่พบเข้า จึงนำไปบรรณศาลาพร้อมทั้งดอกปทุม ให้นอนบนเตียง. ขณะนั้นด้วยบุญญานุภาพ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 14

ของนาง น้ำนมก็บังเกิดที่นิ้วหัวแม่มือ. ดาบสนั้นเมื่อดอกปทุมนั้นเหี่ยว ก็นำดอกปทุมดอกอื่นมาแทน ให้เด็กหญิงนั้นหลับนอน. นับตั้งแต่เด็กหญิงนั้นสามารถเล่นวิ่งมาวิ่งไปได้ ดอกปทุมก็ผุดทุกๆ ย่างก้าว. ผิวพรรณแห่งสรีระของนางเป็นเหมือนดอกบัวบก. เด็กหญิงนั้นยังไม่เจริญวัย ก็ล้ำผิวพรรณเทวดา ล้ำผิวพรรณมนุษย์. เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล เด็กหญิงนั้นก็ถูกทิ้งไว้ที่บรรณศาลา.

เมื่อเวลาเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล พรานป่าคนหนึ่งเห็นนางก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าเหล่ามนุษย์รูปร่างอย่างนี้ไม่มี จำเราจักตรวจสอบนาง แล้วนั่งรอการมาของดาบส. เมื่อบิดากลับมา นางก็เดินสวนทางไปรับสาแหรกจากมือของดาบสนั้นมาด้วยตัวเอง แล้วแสดงข้อวัตรที่ตนควรทำแก่ดาบสซึ่งนั่งลงแล้ว. ครั้งนั้น นายพรานป่าก็รู้ว่านางเป็นมนุษย์ จึงกราบดาบสแล้วนั่งลง ดาบสจึงต้อนรับด้วยผลหมากรากไม้กับน้ำดื่มแล้วถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจักพักอยู่ในที่นี้หรือจักไป. เขาตอบว่า จักไปเจ้าข้า อยู่ในที่นี้จักทำอะไรได้. ดาบสขอร้องว่า เหตุที่ท่านเห็นอยู่นี้อย่าได้พูดไปเลยนะ. เขารับว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ประสงค์ ก็จะพูดไปเพราะเหตุไรเล่า แล้วไหว้ดาบส ทำกิ่งไม้ รอยเท้า และเครื่องหมายต้นไม้ไว้ในเวลาที่จะมาอีก ก็หลีกไป.

นายพรานป่านั้นไปกรุงพาราณสีเฝ้าพระราชา. พระราชาตรัสถามว่า เหตุไรเจ้าจึงมา. กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทเป็นพรานป่าของพระองค์ พบอิตถีรัตนะอันน่าอัศจรรย์ที่เชิงเขา จึงมาเฝ้าพระเจ้าข้า แล้วทูลเล่าเรื่องทั้งหมดถวาย. พระราชาสดับคำของนายพรานป่านั้นแล้ว รีบเสด็จไปเชิงเขา ตั้งค่ายพักในที่ไม่ไกล จึงพร้อมด้วยนายพรานป่าและเหล่าราชบุรุษอื่นๆ เสด็จไปที่นั้น เวลาดาบสนั่งฉันอาหาร ทรงอภิวาท

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 15

ปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง พระราชาทรงวางเครื่องบริขารสำหรับนักบวชไว้แทบเท้าดาบส ตรัสว่า ท่านเจ้าข้า พวกเราจะทำอะไรสักอย่างก็จะไป ดาบสทูลว่า โปรดเสด็จไปเถิด มหาบพิตร. ตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะไป ได้ทราบว่าบริษัทที่เป็นข้าศึกอยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ บริษัทนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้าสำหรับนักบวชทั้งหลาย ขอบริษัทนั้นจงไปเสียกับข้าพเจ้าเถิด ท่านเจ้าข้า. ทูลว่า ขึ้นชื่อว่าจิตใจของเหล่ามนุษย์ร้ายนัก หญิงผู้นี้จักอยู่กลางหมู่ผู้คนมากๆ อย่างไรได้. ตรัสปลอบว่า ท่านเจ้าข้า นับแต่ข้าพเจ้าชอบใจนาง ก็จะตั้งนางไว้ในตำแหน่งหัวหน้าของคนอื่นๆ ทะนุบำรุงไว้. ดาบสฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ร้องเรียกธิดาโดยชื่อที่ตั้งไว้ครั้งยังเล็กๆ ว่า ลูกปทุมวดีจ๋า. โดยเรียกคำเดียว นางก็ออกมาจากบรรณศาลา ยืนไหว้บิดา. บิดาจึงกล่าวกะนางว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเจริญวัยแล้วคงจะอยู่ในที่นี้ได้ไม่ผาสุก นับแต่พระราชาทรงพบแล้ว จงไปกับพระราชาเสียเถิดนะลูกนะ. นางรับคำบิดาว่า เจ้าค่ะ ท่านพ่อ ไหว้บิดา แล้วเดินไปร้องไห้ไป. พระราชาทรงพระดำริว่า จำเราจะยึดจิตใจบิดาของหญิงผู้นี้ จึงวางนางไว้บนกองกหาปณะ แล้วทรงทำอภิเษก.

จำเดิมแต่พระราชาทรงพานางมาถึงนครของพระองค์แล้ว ก็ไม่ทรงเหลียวแลสตรีอื่นๆ เลย ทรงอภิรมย์อยู่กับนางเท่านั้น. เหล่าสตรีอื่นๆ ก็ริษยา ประสงค์จะทำนางให้แตกกันระหว่างพระราชา จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หญิงผู้นี้มิใช่ชาติมนุษย์ดอกเพคะ ดอกปทุมทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในที่พวกมนุษย์ท่องเที่ยวไป พระองค์เคยพบแล้วมิใช่หรือ หญิงผู้นี้ต้องเป็นยักษิณีแน่แล้ว โปรดขับไล่มันไปเถิดเพคะ. พระราชาทรงสดับคำของสตรีเหล่านั้นก็ได้แต่ทรงนิ่งอยู่. บังเอิญสมัยนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 16

เมืองทางชายแดนก่อการกำเริบ พระนางปทุมวดีก็ทรงพระครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น พระราชาจึงทรงคงพระนางไว้ในพระนคร เสด็จไปเมืองชายแดน. ครั้งนั้นสตรีเหล่านั้นจึงติดสินบนหญิงผู้รับใช้พระนาง สั่งว่า เจ้าจงนำทารกของพระนางที่พอคลอดแล้วออกไป จงเอาท่อนไม้ท่อนหนึ่งทาเลือดแล้ววางไว้ใกล้ๆ แทน. ไม่นานนัก พระนางปทุมวดีก็ประสูติพระมหาปทุมกุมารอยู่ในพระครรภ์พระองค์เดียว. นอกนั้นทารก ๔๙๙ พระองค์ ก็บังเกิดเป็นสังเสทชะ ในขณะที่พระมหาปทุมกุมารออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้วบรรทมอยู่ ขณะนั้นหญิงรับใช้พระนางรู้ว่าพระนางปทุมวดีนี้ยังไม่ได้สติ ก็เอาท่อนไม้ท่อนหนึ่งทาเลือดแล้ววางไว้ใกล้ๆ แล้วก็ให้สัญญาณนัดหมายแก่สตรีเหล่านั้น สตรีทั้ง ๕๐๐ คน แต่ละคนก็รับทารกคนละองค์ ส่งไปสำนักของเหล่าช่างกลึง ให้นำกล่องทั้งหลายมา แล้วให้ทารกที่แต่ละคนรับไว้นอนในกล่องนั้น ทำตราเครื่องหมายไว้ภายนอก วางไว้. ฝ่ายพระนางปทุมวดีรู้สึกพระองค์แล้ว ถามหญิงรับใช้นั้นว่า ข้าคลอดบุตรหรือจ๊ะแม่นาง หญิงผู้นั้นพูดขู่พระนางว่า พระนางจักได้ทารกแต่ไหนเล่า มีแต่ทารกที่ออกจากพระครรภ์พระนางอันนี้ แล้วก็วางท่อนไม้ที่เปื้อนเลือดไว้เบื้องพระพักตร์. พระนางทอดพระเนตรเห็นแล้วก็เสียพระหฤทัย ตรัสว่า เจ้าจงรีบผ่าท่อนไม้นั้นเอาออกไปเสีย ถ้าใครเขาเห็นจะอับอายขายหน้าเขา. หญิงผู้นั้นฟังพระราชเสาวนีย์ก็ทำเป็นหวังดี ผ่าท่อนไม้แล้วใส่เตาไฟ.

ฝ่ายพระราชเสด็จกลับจากเมืองชายแดนแล้ว รอพระฤกษ์อยู่ ตั้งค่ายพักอยู่นอกพระนคร ครั้งนั้นสตรี ๕๐๐ คน ก็มาต้อนรับพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์คงจักไม่ทรงเชื่อข้าพระบาท

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 17

ทั้งหลายว่า ที่ข้าพระบาทกราบทูลประหนึ่งไม่มีเหตุ ขอได้โปรดสอบถามหญิงรับใช้พระมเหสีดู พระเทวีประสูติเป็นท่อนไม้ พระราชาทรงสอบสวนเหตุนั้น แล้วทรงพระดำริว่า พระนางคงจักไม่ใช่ชาติมนุษย์แน่ ดังนี้แล้ว ทรงขับไล่พระนางออกไปจากพระนิเวศน์. พอพระนางเสด็จออกพระราชนิเวศน์เท่านั้น ดอกปทุมทั้งหลายก็อันตรธานไป พระสรีระก็มีผิวพรรณแปลกไป พระนางทรงดำเนินไปในท้องถนนพระองค์เดียว ครั้งนั้น หญิงเจริญวัยผู้หนึ่งแลเห็นพระนาง ก็เกิดสิเนหาพระนางประดุจว่าเป็นธิดา จึงพูดว่า แม่คุณจะไปไหนจ๊ะ พระนางตรัสว่า ดิฉันเป็นคนจร กำลังเที่ยวเดินหาที่อยู่จ้ะ หญิงชราพูดว่า มาอยู่เสียที่นี้ซิจ๊ะ แล้วให้ที่อยู่ จัดแจงอาหารให้เสวย.

เมื่อพระนางอยู่ในที่นั้นโดยทำนองนี้ สตรี ๕๐๐ คนนั้นก็ร่วมใจกันกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อพระองค์ประทับค่ายพัก พวกข้าพระบาทมีความปรารถนาว่า เมื่อเทวะของพวกข้าพระบาทชนะสงครามกลับมา จักทรงเล่นกีฬาทางน้ำเป็นพลีกรรมแก่เทวดาประจำแม่คงคา ขอเทวะโปรดประกาศให้ทราบเรื่องนี้เพคะ พระราชาดีพระหฤทัย ด้วยคำทูลของสตรีเหล่านั้น เสด็จไปทรงกีฬาทางน้ำในแม่พระคงคา หญิงเหล่านั้นถือกล่องที่แต่ละคนรับไว้อย่างมิดชิดไปยังแม่น้ำ ห่มคลุมเพื่อปกปิดกล่องเหล่านั้น ทำเป็นตกน้ำแล้วทิ้งกล่องทั้งหลายเสีย กล่องเหล่านั้นมารวมกันหมด แล้วติดอยู่ในข่ายที่เขาขึงไว้ใต้กระแสน้ำ. แต่นั้น เวลาที่พระราชาทรงกีฬาทางน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ราชบุรุษทั้งหลายก็ยกตาข่ายขึ้น เห็นกล่องเหล่านั้นจึงนำไปราชสำนัก พระราชาทอดพระเนตรเห็นกล่องทั้งหลายจึงตรัสถามว่า อะไรในกล่อง พอเขากราบทูลว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 18

ยังไม่ทราบพระเจ้าข้า ท้าวเธอทรงให้เปิดกล่องเหล่านั้นสำรวจดู ทรงให้เปิดกล่องใส่พระมหาปทุมกุมารเป็นกล่องแรก ในวันนี้พระกุมารเหล่านั้นทั้งหมดบรรทมอยู่ในกล่องทั้งหลาย น้ำนมก็บังเกิดที่หัวนิ้วแม่มือด้วยบุญฤทธิ์ ท้าวสักกเทวราชสั่งให้จารึกอักษรไว้ที่ข้างในกล่องเพื่อพระราชาจะได้ไม่ทรงสงสัยว่า พระกุมารเหล่านี้ประสูติในพระครรภ์ของพระนางปทุมวดี เป็นโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี ครั้งนั้นสตรี ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี ใส่พระกุมารเหล่านั้นไว้ในกล่องแล้วโยนน้ำ ขอพระราชาโปรดทราบเหตุนี้ พอเปิดกล่อง พระราชาทรงอ่านอักษรทั้งหลายแล้วทอดพระเนตรเห็นทารกทั้งหลาย ทรงยกพระมหาปทุมกุมารขึ้น ตรัสสั่งว่า จงรีบเทียมรถจัดม้าไว้ วันนี้เราจักเข้าไปในพระนคร ทำให้เป็นที่รักสำหรับแม่บ้านบางจำพวก แล้วเสด็จขึ้นปราสาท ทรงวางถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะไว้บนคอช้าง โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศว่า ผู้ใดพบพระนางปทุมวดี ผู้นั้นจงรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะไป.

พระนางปทุมวดีทรงได้ยินคำประกาศนั้นแล้ว ได้ให้สัญญานัดหมายแก่มารดาว่า แม่จ๋า จงรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะจากคอช้างเถิด. หญิงชรากล่าวว่า ข้าไม่อาจรับทรัพย์ขนาดนั้นได้ดอก. พระนางแม้เมื่อมารดาปฏิเสธ ๒ - ๓ ครั้ง ก็ตรัสว่า แม่พูดอะไร รับไว้เถิดแม่. หญิงชราคิดว่า ลูกของเราคงพบพระนางปทุมวดี เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า รับไว้เถิด. หญิงชรานั้นจึงจำใจเดินไปรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ. ขณะนั้น ผู้คนทั้งหลายพากันถามหญิงชรานั้นว่า คุณแม่ เห็นพระนางปทุมวดีเทวีหรือ. หญิงชราตอบว่า ข้าไม่เห็นดอก แต่ลูกสาวของข้าเห็น. ผู้คนเหล่านั้นถามว่า ก็ลูกสาวของคุณแม่อยู่ที่ไหน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 19

เล่า แล้วก็เดินไปกับหญิงชรานั้น จำพระนางปทุมวดีได้ ก็พากันหมอบอยู่แทบยุคลบาท. ในเวลานั้น หญิงชรานั้นก็ชี้ว่า นี้พระนางปทุมวดีเทวี แล้วกล่าวว่า ผู้หญิงทำกรรมหนักหนอ เป็นถึงพระมเหสีของพระราชาอย่างนี้ ยังอยู่ปราศจากอารักขาในสถานที่เห็นปานนี้. ราชบุรุษเหล่านั้นเอาม่านขาววงล้อมเป็นนิเวศน์ของพระนางปทุมวดี ตั้งกองอารักขาไว้ใกล้ประตู แล้วกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงส่งสุวรรณสีวิกา พระวอทองไปรับ. พระนางรับสั่งว่า เราจะไม่ไปอย่างนี้ เมื่อพวกท่านลาดเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ระหว่างตั้งแต่สถานที่อยู่ของเราจนถึงพระราชนิเวศน์ ให้ติดเพดานผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองไว้ข้างบน แล้วส่งสรรพอาภรณ์เพื่อประดับไป เราจักเดินไปด้วยเท้า ชาวพระนครจักเห็นสมบัติของเราอย่างนี้ พระราชาตรัสว่า พวกท่านจงทำตามความชอบใจของปทุมวดี. แต่นั้น พระนางปทุมวดีทรงพระดำริว่า เราจักประดับเครื่องประดับทุกอย่างเดินไปพระราชนิเวศน์ แล้วเสด็จเดินทาง. ครั้งนั้น ดอกปทุมทั้งหลายก็ชำแรกเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ผุดขึ้นในที่ทุกย่างก้าวพระบาทของพระนาง. พระนางครั้นแสดงสมบัติของพระองค์แก่มหาชนแล้ว เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ โปรดประทานเครื่องลาดอันวิจิตรทั้งหมดเป็นค่าเลี้ยงดูแก่หญิงชรานั้น.

พระราชารับสั่งให้เรียกสตรี ๕๐๐ คนมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนเทวี เราให้หญิงเหล่านี้เป็นทาสีของเจ้า. พระนางทูลว่า ดีละเพคะ หม่อมฉันขอให้ทรงประกาศให้ชาวเมืองทั่วไปได้ทราบว่า หญิงเหล่านี้พระราชทานแก่หม่อมฉันแล้ว. พระราชาก็โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศว่า หญิง ๕๐๐ คน ผู้ประทุษร้ายพระนางปทุมวดี เราให้เป็นทาสีของพระนางพระองค์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 20

เดียว. พระนางปทุมวดีนั้นทรงทราบว่า ในนครทั่วไปกำหนดรู้ว่าหญิงเหล่านั้นเป็นทาสีแล้ว จึงทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ หม่อมฉันจะทำทาสีของหม่อมฉันให้เป็นไท ได้ไหมเพคะ. พระราชารับสั่งว่า เทวี เจ้าต้องการก็ได้สิ. พระนางกราบทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอได้ทรงโปรดให้เรียกคนตีกลองป่าวประกาศ สั่งให้เขาตีกลองป่าวประกาศอีกว่า พวกทาสีที่พระองค์พระราชทานแก่พระนางปทุมวดี พระนางทำให้เป็นไทหมดทั้ง ๕๐๐ คนแล้ว. เมื่อสตรีเหล่านั้นเป็นไทแล้ว พระนางก็มอบพระโอรส ๔๙๙ พระองค์ให้สตรีเหล่านั้นเลี้ยงดู ส่วนพระองค์เองทรงรับเลี้ยงดูเฉพาะพระมหาปทุมกุมารเท่านั้น. เมื่อถึงเวลาพระราชกุมารเหล่านั้นทรงเล่นได้ พระราชาก็โปรดให้สร้างสนามเล่นต่างๆ ไว้ในพระราชอุทยาน. พระราชกุมารเหล่านั้นมีพระชันษาได้ ๑๖ พรรษา ทุกพระองค์ก็พร้อมกันลงเล่นในมงคลโบกขรณีที่ปกคลุมด้วยปทุมในพระราชอุทยาน ทรงเห็นปทุมดอกใหม่บาน ดอกเก่ากำลังหล่นจากขั้ว ก็พิจารณาเห็นว่า ดอกปทุมนี้ไม่มีใจครอง ยังประสบชราเห็นปานนี้ ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงสรีระของพวกเราเล่า แม้สรีระนี้ก็คงจักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน แล้วทรงยึดเป็นอารมณ์ ทุกพระองค์บังเกิดปัจเจกพุทธญาณ แล้วพากันลุกขึ้น ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ กลีบดอกปทุม ขณะนั้น พวกราชบุรุษที่ไปกับพระราชกุมารเหล่านั้นรู้ว่าสายมากแล้ว จึงทูลว่า พระลูกเจ้า เจ้าข้า ขอได้โปรดทราบเวลาของพระองค์. พระราชกุมารทั้งหมดนั้นก็นิ่งเสีย. ราชบุรุษเหล่านั้นก็พากันไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ. พระราชกุมารทั้งหลายประทับนั่งในกลีบดอกปทุม เมื่อพวกข้าพระบาทกราบทูล ก็ไม่ทรงเปล่งพระวาจาเลย. พระราชาตรัสว่า พวก

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 21

เจ้าจงให้พวกเขานั่งตามชอบใจเถิด. พระราชกุมารเหล่านั้นได้รับอารักขาตลอดคืนยังรุ่ง ก็ประทับนั่งในกลีบดอกปทุมทำนองนั้นนั่นแหละจนอรุณจับฟ้า พวกราชบุรุษก็กลับไป รุ่งขึ้นจึงพากันเข้าไปเฝ้าทูลว่า ขอเทวะทั้งหลาย โปรดทราบเวลาเถิด พระเจ้าข้า. ทุกพระองค์ตรัสว่า พวกเราไม่ใช่เทวะ พวกเราชื่อว่าพระปัจเจกพุทธะ. พวกเขากราบทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้าทั้งหลาย พระองค์ตรัสพระดำรัสหนัก พระเจ้าข้า. ธรรมดาว่า พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายไม่เป็นเช่นพระองค์ดอก ต้องมีหนวดเครา ๒ องคุลี มีบริขาร ๘ สวมพระกายสิพระเจ้าข้า. พระราชกุมารเหล่านั้นเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร. ทันใดนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ ก็อันตรธานหายไป. กลายเป็นผู้มีบริขาร ๘ สวมพระวรกาย แล้วก็เสด็จไปเงื้อมเขานันทมูลกะ ทั้งที่มหาชนกำลังมองดูอยู่นั่นแล.

ฝ่ายพระนางปทุมวดีก็ทรงเศร้าโศกพระหฤทัยว่า เรามีลูกมาก แต่ก็จำพลัดพรากกันไป. เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคนั้นนั่นแล บังเกิดในสถานของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพในหมู่บ้านใกล้ประตูกรุงราชคฤห์. ต่อมา นางมีเหย้าเรือนแล้ว วันหนึ่ง กำลังนำข้าวยาคูไปให้สามี ก็แลเห็นพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์ อยู่ในจำนวนบุตรเหล่านั้นของตน ซึ่งกำลังเหาะไปในเวลาแสวงหาอาหาร จึงรีบไปบอกสามีว่า เชิญดูพระผู้เป็นเจ้าปัจเจกพุทธะ ช่วยนิมนต์ท่านมา เราจักถวายอาหาร. สามีพูดว่า ขึ้นชื่อว่าพวกนก ก็บินเที่ยวไปอย่างนั้น นั่นไม่ใช่พระปัจเจกพุทธะดอก. พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น ก็ลงในที่ไม่ไกลคนทั้ง ๒ นั้น ซึ่งกำลังพูดจากันอยู่. หญิงนั้นก็ถวายโภชนะคือข้าวสวยและกับแกล้มสำหรับตนในวันนั้นแด่พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น แล้วนิมนต์ว่า พรุ่งนี้ ท่านทั้ง ๘ ขอโปรด

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 22

รับอาหารของดิฉันด้วย. พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้นกล่าวว่า ดีละท่าน อุบาสิกา ท่านมีสักการะและมีอาสนะ ๘ ที่เท่านั้นก็พอ เห็นพระปัจเจกพุทธะองค์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ก็จงคงจิตใจของท่านไว้. วันรุ่งขึ้น นางก็ปูอาสนะไว้ ๘ ที่ นั่งจัดสักการะสำหรับพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์. พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายที่รับนิมนต์จึงให้สัญญานัดหมายแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธะนอกนั้นว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย วันนี้อย่าไปที่อื่น ทั้งหมดจงช่วยกันสงเคราะห์โยมมารดาของพวกท่านเถิด. ฟังคำของพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์นั้นแล้ว ทุกองค์ก็เหาะไปพร้อมกัน ปรากฏอยู่ที่ประตูเรือนของมารดา. แม้นางเห็นพระปัจเจกพุทธะจำนวนมากกว่าสัญญาที่ได้รับคราวแรก ก็มิได้หวั่นไหว. นิมนต์ทุกองค์เข้าไปเรือน ให้นั่งเหนืออาสนะ. เมื่อพระปัจเจกพุทธะกำลังนั่งตามลำดับ องค์ที่ ๙ ก็เนรมิตอาสนะเพิ่มขึ้นอีก ๘ ที่ ตนเองนั่งเหนืออาสนะที่ไกล. เรือนก็ขยายตามเท่าที่อาสนะเพิ่มขึ้น. เมื่อพระปัจเจกพุทธะทุกองค์นั่งอย่างนั้นแล้ว หญิงนั้นก็ถวายสักการะที่จัดไว้สำหรับพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์ จนเพียงพอเท่าพระปัจเจกพุทธะ ๕๐๐ องค์ แล้วจึงนำเอาดอกอุบลขาบทั้ง ๘ ดอกที่อยู่ในมือ วางไว้แทบเท้าของพระปัจเจกพุทธะที่นิมนต์มาเท่านั้น กล่าวอธิฐานว่า ท่านเจ้าข้า ขอผิวกายของดิฉัน จงเป็นประดุจผิวภายในห้องดอกอุบลขาบเหล่านี้ ในสถานที่ที่ดิฉันเกิดแล้วเกิดอีกนะเจ้าข้า. พระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย ท่านอนุโมทนาแก่มารดาแล้วก็ไปสู่เขาคันธมาทน์.

แม้หญิงนั้นทำกุศลจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวเศรษฐี. ก็เพราะนางมีผิวพรรณเสมอด้วยดอกอุบลขาบ. บิดามารดาจึงขนานนาม

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 23

ของนางว่า อุบลวรรณา. เมื่อเวลานางเจริญวัย พระราชาทั่วชมพูทวีปก็ส่งคนไปสำนักเศรษฐีขอนาง ไม่มีราชาพระองค์ใดที่ไม่ส่งคนไปขอ. แต่นั้น เศรษฐีคิดว่า เราไม่อาจยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทุกคนได้ แต่จำเราจะทำอุบายสักอย่างหนึ่ง จึงเรียกธิดามาถามว่า เจ้าบวชได้ไหมลูก. เพราะเหตุที่นางเกิดในภพสุดท้าย คำของบิดานั้นจึงเป็นเหมือนน้ำมันเคี่ยว ๑๐๐ ครั้งราดลงบนศีรษะ. เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวกะบิดาว่า บวชได้จ้ะพ่อ. เศรษฐีนั้นจึงทำสักการะแก่นาง แล้วนำไปสำนักภิกษุณีให้บวช เมื่อนางบวชใหม่ๆ ถึงเวร [วาระ] ในโรงอุโบสถ. นางตามประทีปกวาดโรงอุโบสถ ถือเอานิมิตที่เปลวประทีป ตรวจดูบ่อยๆ ก็ทำฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้ฌานบังเกิด แล้วทำฌานนั้นให้เป็นบาท ก็บรรลุพระอรหัต. พร้อมด้วยพระอรหัตตผลนั่นแล ก็เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ต่อมา ในวันที่พระศาสดาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ถวาย. พระศาสดาทรงทำเหตุอันนี้ให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง ประทับนั่ง ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้มีฤทธิ์ แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๓