พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๗ ประวัติพระโสณาเถรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38388
อ่าน  656

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 34

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ประวัติพระโสณาเถรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 34

อรรถกถาสูตรที่ ๗

๗. ประวัติพระโสณาเถรี

ในสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า อารทฺธวิริยานํ ยทิทํ โสณา ท่านแสดงว่า พระโสณาเถรีเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ปรารภความเพียร.

ได้ยินว่า พระโสณาเถรีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงหังสวดี ต่อมา กำลังฟังธรรมของพระศาสดา เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ปรารภความเพียร. ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงสาวัตถี ต่อมา อยู่ในฆราวาสวิสัย ได้มีบุตรธิดามาก ก็ให้บุตรทุกคนตั้งอยู่ในฆราวาสวิสัยคนละแผนกๆ จำเดิมแต่นั้น บุตรเหล่านั้นคิดว่า หญิงผู้นี้จักทำอะไรแก่พวกเรา ต่างไม่สำคัญหญิงที่มาสำนักตนว่าเป็นมารดา. นางโสณาผู้มีบุตรมากรู้ว่าพวกบุตรไม่เคารพตน คิดว่า เราจะทำอะไรด้วยฆราวาสวิสัย ดังนี้แล้ว จึงออกบวช. ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายลงทัณฑกรรมนางว่า ภิกษุณีรูปนี้ไม่รู้ข้อวัตร ทำกิจที่ไม่สมควร. เหล่าบุตรธิดาพบนางต้องทัณฑกรรม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 35

ก็พากันพูดเยาะเย้ยในที่พบเห็นว่า หญิงผู้นี้ไม่รู้แม้เพียงสิกขาจนทุกวันนี้. นางได้ยินคำพูดของบุตรธิดาเหล่านั้น ก็เกิดความสลดใจ คิดว่า เราควรทำการชำระคติของตน จึงท่องบ่นอาการ ๓๒ ทั้งในที่ๆ นั่ง ทั้งในที่ๆ ยืน แต่ก่อนปรากฏชื่อว่า พระโสณาเถรี ผู้มีบุตรมาก ฉันใด ภายหลังก็ปรากฏชื่อว่า พระโสณาเถรี ผู้ปรารภความเพียรมาก ฉันนั้น. ภายหลัง วันหนึ่งเหล่าภิกษุณีไปวิหารบอกว่า แม่โสณา ต้มน้ำถวายภิกษุณีสงฆ์นะ. แม่นางก็เดินจงกรมที่โรงไฟก่อนน้ำเดือด ท่องบ่นอาการ ๓๒ เจริญวิปัสสนา. พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ตรัสพระคาถาพร้อมกับเปล่งโอภาส ดังนี้ว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว

อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย

ปสฺสโต ธมฺมมุตฺตมํ.

ผู้เห็นธรรมสูงสุด มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นธรรมสูงสุดมีชีวิตเป็นอยู่ถึง ๑๐๐ ปี.

จบพระคาถา นางก็บรรลุพระอรหัต คิดว่า เราบรรลุพระอรหัตแล้ว คนจรมาไม่ใคร่ครวญก่อน พูดอะไรๆ ดูหมิ่นเรา ก็จะพึงประสบบาปเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น เราควรทำเหตุที่เขาจะกำหนดรู้กันได้ นางจึงยกกาน้ำขึ้นตั้งบนเตาไฟ ไม่ใส่ไฟไว้ภายใต้. เหล่าภิกษุณีมาเห็นแต่เตา ไม่เห็นไฟ ก็กล่าวว่า พวกเราบอกให้หญิงแก่คนนี้ต้มน้ำถวายภิกษุณีสงฆ์ แม้วันนี้นางก็ยังไม่ใส่ไฟในเตา. นางจึงกล่าวว่า แม่เจ้า พวกท่านต้องการอาบน้ำด้วยน้ำร้อนด้วยไฟหรือ โปรดถือเอาน้ำจากภาชนะแล้วอาบเถิด. ภิกษุณีเหล่านั้นจึงไปด้วยหมายจะรู้ว่า จักมี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 36

เหตุในเรื่องนี้. เอามือจุ่มลงในน้ำก็รู้ว่าน้ำร้อน จึงนำหม้อน้ำหม้อหนึ่งมาบรรจุน้ำ. ที่บรรจุแล้วๆ ก็เต็มน้ำ. ขณะนั้นภิกษุณีทั้งหมดก็รู้ว่า นางตั้งอยู่ในพระอรหัต ที่อ่อนกว่าก็หมอบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ขอขมาก่อนว่า แม่เจ้า พวกเราไม่พิจารณาแล้วกล่าวเสียดสีแม่เจ้า ขอแม่เจ้าโปรดอดโทษแก่พวกเราด้วยเถิด. ฝ่ายเหล่าพระเถรีที่แก่กว่าก็นั่งกระหย่ง ขอขมาว่า โปรดอดโทษด้วยเถิดแม่เจ้า. จำเดิมแต่นั้น คุณของพระเถรีก็ปรากฏไปว่า พระเถรีแม้บวชเวลาแก่เฒ่าก็ดำรงอยู่ในผลอันเลิศในเวลาไม่นาน เพราะเป็นผู้ปรารภความเพียร. ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระโสณาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ปรารภความเพียร แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๗