พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๑๒ ประวัติพระกีสาโคตมีเถรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38393
อ่าน  727

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 50

อรรถกถาสูตรที่ ๑๒

ประวัติพระกีสาโคตมีเถรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 50

อรรถกถาสูตรที่ ๑๒

๑๒. ประวัติพระกีสาโคตมีเถรี

ในสูตรที่ ๑๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ลูขจีวรธรานํ ท่านแสดงไว้ว่า นางกีสาโคตมีเป็นยอดของเหล่าภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงผ้าบังสุกุลอันประกอบด้วยความเศร้าหมอง ดังนี้ นางมีชื่อว่า โคตมี แต่เขาเรียกกันว่า กีสาโคตมี เพราะเป็นผู้ค่อนข้างจะผอมไปนิดหน่อย.

แม้นางนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในสกุลคนเข็ญใจ กรุงสาวัตถี เวลาเจริญวัยแล้วก็ไปสู่การครองเรือน. พวกชนในสกุลนั้นดูหมิ่นนางว่า เป็นธิดาของสกุลคนเข็ญใจ. ต่อมานางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง. ทีนั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำความยกย่องนาง. ก็บุตรของนางตั้งอยู่ในวัยพอจะวิ่งไปวิ่งมาเล่นได้ก็มาตายเสีย ความเศร้าโศกก็ได้เกิดขึ้นแก่นาง. นางคิดว่า เราขาดลาภและสักการะในเรือนนี้แล้ว นับแต่เวลาที่บุตรเกิดมาจึงได้สักการะ ชนเหล่านี้จึงพยายามแม้เพื่อจะทิ้งบุตรของเราไว้ข้างนอก ดังนี้ จึงอุ้มบุตรใส่สะเอวเที่ยวเดินไปตามลำดับประตูเรือนด้วยพูดว่า ขอพวกท่านจงให้ยาแก่บุตรของเราด้วยเถิด ดังนี้. พวกมนุษย์ในที่ที่พบแล้วๆ ต่างดีด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 51

นิ้วมือกระทำการเย้ยหยันว่า ยาสำหรับคนตายแล้วท่านเคยเห็นที่ไหนบ้าง. นางมิได้เข้าใจความหมายแห่งคำพูดของพวกเขาเลย. ลำดับนั้น คนฉลาดคนหนึ่งเห็นนางแล้วคิดว่า นางนี้จักต้องมีจิตฟุ้งซ่าน (บ้า) เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร แต่ยาสำหรับบุตรของนางนั้นคนอื่นหารู้ไม่ พระทศพลเท่านั้นจักทรงทราบ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า แม่เอ๋ย ยาสำหรับบุตรของเธอคนอื่นที่จะรู้หามีไม่ พระทศพลผู้เป็นยอดบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลกประทับอยู่ในวิหารใกล้ๆ นี่เอง ขอเธอจงไปทูลถามดูเถิด. นางคิดว่า คนผู้นี้พูดจริง จึงอุ้มบุตรไปยืนอยู่ในตอนท้ายบริษัท ในเวลาที่พระตถาคตประทับนั่งบนพุทธอาสน์แล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดประทานยาแก่บุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด ดังนี้.

พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของนางแล้วตรัสว่า ดูก่อนโคตมี เธอมาที่นี้เพื่อต้องการยานับว่าทำดีมาก เธอจงเข้าไปยังนคร เดินเที่ยวไปตลอดนครนับแต่ท้ายบ้านไป ในเรือนใดไม่เคยมีคนตาย จงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนนั้นมา ดังนี้. นางทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า ดังนี้ มีใจยินดี เข้าไปภายในนคร พอถึงเรือนแรกทีเดียวก็พูดว่า พระทศพลทรงมีรับสั่งให้หาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาเพื่อประโยชน์ใช้เป็นยาแก่ลูกของเรา ขอพวกท่านจงให้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแก่เราเถิด ดังนี้. พวกคนทั้งหลายต่างได้นำมาให้นางด้วยพูดว่า เชิญเถิดโคตมี.

โคตมี. ดิฉันยังไม่อาจรับไว้ได้โดยทำนองนี้ ในเรือนนี้ชื่อว่าไม่เคยมีคนตายหรือ.

ชาวบ้าน. ดูก่อนนางโคตมี เธอพูดอะไร ใครจะอาจนับคนที่ตายแล้วในเรือนนี้ได้เล่า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 52

โคตมี. ถ้ากระนั้น พอที พระทศพลทรงรับสั่งให้ข้าพเจ้ารับเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นจากเรือนที่ไม่เคยมีคนตาย.

นางเดินไปเรือนหลังที่ ๓ โดยทำนองนี้นี่แหละ แล้วคิดได้ว่า ในนครทั้งสิ้นก็จักมีทำนองนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลจักทรงเห็นเหตุนี้แล้ว ดังนี้ ได้ความสังเวชใจ ออกไปภายนอกนครนั้นทีเดียว ไปยังป่าช้าผีดิบ เอามือจับบุตรแล้วพูดว่า แน่ะ ลูกน้อย แม่คิดว่าความตายนี้เกิดขึ้นแก่เจ้าเท่านั้น แต่ว่าความตายนี้ไม่มีแก่เจ้าคนเดียว นี่เป็นธรรมดามีแก่มหาชนทั่วไป ดังนี้แล้ว จึงทิ้งลูกในป่าช้าผีดิบ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

น คามธมฺโม โน นิคมสฺส ธมฺโม

น จาปิยํ เอกกุลสฺส ธมฺโม

สพฺพสฺส โลกสฺส สเทวกสฺส

เอเสว ธมฺโม ยทิทํ อนิจฺจตา.

ธรรมนี้นี่แหละคือควานไม่เที่ยง มิใช่ธรรมของชาวบ้าน มิใช่ธรรมของนิคม ทั้งมิใช่ธรรมสกุลเดียวด้วย แต่เป็นธรรมของโลกทั้งหมด พร้อมทั้งเทวโลก.

ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางได้ไปยังสำนักของพระศาสดา. ทีนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนโคตมี เธอได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้วหรือ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีการที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว แต่ขอพระองค์จงประทานที่พึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสคาถาในธรรมบทแก่นางว่า :-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 53

ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ

พฺยาสตฺตมนสํ นรํ

สุตฺตํ คามํ มโหโฆว

มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ.

มฤตยูย่อมพาเอานรชน ผู้มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับใหลอยู่ไปฉะนั้น.

จบพระคาถานางทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทูลขอบรรพชาแล้ว. พระศาสดาทรงอนุญาตการบรรพชาให้. นางทำประทักษิณพระศาสดา ๓ ครั้ง ถวายบังคมแล้วไปยังสำนักภิกษุณี ได้บรรพชาและอุปสมบทแล้ว ไม่นานนัก กระทำกรรมในโยนิโสมนสิการ เจริญวิปัสสนา ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาพร้อมด้วยเปล่งโอภาส [รัศมี] แก่นางว่า :-

โย จ วสฺสสตํ ชีเว

อปสฺสํ อมตํ ปทํ

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย

ปสฺสโต อมตํ ปทํ.

ก็ผู้ใดไม่เห็นอมตบท พึงมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ชีวิตของผู้เห็นอมตบทเพียงวันเดียว ยังประเสริฐกว่า ดังนี้.

จบพระคาถานางก็บรรลุอรหัต เป็นผู้เคร่งครัดยิ่งในการใช้สอยบริขาร ห่มจีวรประกอบด้วยความปอน ๓ อย่างเที่ยวไป. ต่อมาพระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๒