พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๑ ประวัติตปุสสะและภัลลิกะอุบาสก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38396
อ่าน  407

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 57

อุบาสกบาลี

อรรถกถาวรรคที่ ๖

อรรถกถาสูตรที่ ๑

ประวัติตปุสสะและภัลลิกะอุบาสก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 57

อุบาสกบาลี

อรรถกถาวรรคที่ ๖

อรรถกถาสูตรที่ ๑

๑. ประวัติตปุสสะและภัลลิกะอุบาสก

สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ปมํ สรณํ คจฺฉนฺตานํ ท่านแสดงว่า พ่อค้าสองคน คือ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถึงสรณะก่อนคนทั้งปวง.

ได้ยินว่า พ่อค้าทั้งสองนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือเอาปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกสองคนไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. เขาทั้งสองเวียนว่ายตายเกิดไปในเทวดาและมนุษย์สิ้นแสนกัป มาบังเกิดในเรือนกุฎุมพี ในอสิตัญชนนคร ก่อนพระโพธิสัตว์ของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พี่ชายใหญ่ได้มีชื่อว่าตปุสสะ. น้องชายชื่อว่าภัลลิกะ. สมัยต่อมาพวกเขาอยู่ครองเรือน เทียมเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวทำการค้าขายตลอดมาเป็นเวลานาน.

ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของพวกเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับอยู่ที่โคนต้นโพธิ ๗ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๘ ประทับนั่งที่โคนต้นเกด. ในสมัยนั้นพ่อค้าทั้งสองนั้น ได้มาถึงสถานที่นั้นพร้อมกับ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 58

เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม. มารดาของสองพ่อค้านั้น เกิดเป็นเทวดาอยู่ในที่แถวนั้นในอัตภาพติดต่อกัน ๕ อัตภาพ. นางคิดว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าควรที่จะได้รับพระกระยาหาร เพราะต่อแต่นี้ไปพระองค์ปราศจากพระกระยาหารจะไม่สามารถทรงพระชนม์ชีพอยู่ได้. อนึ่ง บุตรของเราทั้งสองนี้ก็ไปตามสถานที่นี้. วันนี้บุตรทั้งสองนั้นควรได้ถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนี้แล้ว จึงได้ทำให้โคที่เทียมเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่มหยุด ไม่เดินไป. พวกเขาต่างพูดว่า นี่อะไรกัน อะไรกันนี่ จึงพากันตรวจดูนิมิตต่างๆ. ทีนั้น เทพยดานั้นทราบว่าเขาทั้งสองลำบาก จึงเข้าสิงในร่างของบุรุษคนหนึ่งแล้วกล่าวว่า เพราะเหตุไรพวกท่านจึงต้องลำบาก ไม่มียักษ์อื่นกลั่นแกล้ง ไม่มีภูตผีกลั่นแกล้ง ไม่มีนาคกลั่นแกล้งพวกท่านดอก แต่เราเป็นมารดาของพวกท่านในอัตภาพที่ ๕ บังเกิดเป็นภุมเทวดาอยู่ในที่นี้ นั่นพระทศพลประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นเกด ขอพวกเจ้าจงถวายบิณฑบาตเป็นครั้งแรกแด่พระองค์เถิด ดังนี้. พวกเขาได้ฟังถ้อยคำของนางแล้วมีใจยินดี เอาข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนใส่ถาดทอง นำไปยังสำนักของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดทรงรับโภชนะนี้เถิด พระเจ้าข้า. พระศาสดาทรงตรวจดูอาจิณปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตแล้ว. ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั่ง ๔ องค์ น้อมถวายบาตรทำด้วยหิน ๔ ใบแด่พระองค์. พระศาสดาตรัสว่า ขอผลเป็นอันมากจงสำเร็จแก่ท่านทั้งสองเถิด แล้วทรงอธิษฐานบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบให้เป็นบาตรใบเดียวเท่านั้น. ในขณะนั้น พ่อค้าทั้งสองนั้นจึงเอาข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนใส่ในบาตรของพระตถาคต ในเวลาที่พระองค์เสวยเสร็จแล้ว ถวายน้ำ ในเวลาเสร็จภัตกิจแล้ว ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 59

ที่นั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาทั้งสอง. ในเวลาจบเทศนา เขาทั้งสองตั้งอยู่ในสรณะ [ทเววาจิกะ] ที่เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมทั้งสองเท่านั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว มีประสงค์จะไปสู่นครของตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานเจดีย์สำหรับบูชาแก่พวกข้าพระองค์เถิด. พระศาสดาทรงเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรแล้วประทานเส้นพระเกศธาตุ ๘ เส้นแก่ชนแม้ทั้งสอง ชนทั้งสองนั้นวางพระเกศธาตุไว้ในผอบทองคำ นำไปสู่นครของตน ให้บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าที่ยังมีพระชนม์ไว้ที่ประตูอสิตัญชนนคร ในวันอุโบสถก็มีรัศมีสีนิลเปล่งออกมาจากพระเจดีย์ เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยทำนองนี้ ก็ในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาชนทั้งสองนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ถึงสรณะก่อน แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๑