พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ ประวัตินกุลบิดาคฤหบดี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38405
อ่าน  500

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 79

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

ประวัตินกุลบิดาคฤหบดี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 79

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

๑๐. ประวัตินกุลบิดาคฤหบดี

ในสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า วิสฺสาสิกานํ ท่านแสดงว่า นกุลบิดาคฤหบดี เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้กล่าวถ้อยคำแสดงความคุ้นเคย.

ดังได้สดับมา ท่านคฤหบดีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปุทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้คุ้นเคย ก็ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. ท่านเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในสกุลเศรษฐี นครสุงสุมารคิรี แคว้นภัคคะ. แม้พระศาสดา อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเสด็จจาริกไปถึงนครนั้น ประทับอยู่ที่เภสกลาวัน. ครั้งนั้น นกุลบิดาคฤหบดีนี้ ก็ไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยเหล่าชาวสุงสุมารคิรีนคร โดยการเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น เขาและภริยาก็ตั้งความสำคัญว่า พระทศพลเป็นบุตรของตน จึงหมอบลงที่พระยุคลบาทของพระศาสดากราบทูลว่า ลูกเอ๋ย เจ้าทิ้งพ่อแม่ไปเสียตลอด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 80

เวลาเท่านี้ เที่ยวไปอยู่เสียทีไหน. นัยว่า นกุลบิดาคฤหบดีนี้ แม้ในชาติก่อนๆ ก็ได้เป็นบิดาพระทศพล ๕๐๐ ชาติ เป็นอา ๕๐๐ ชาติ เป็นปู่ ๕๐๐ ชาติ เป็นลุง ๕๐๐ ชาติ. นกุลมารดาก็ได้เป็นมารดา ๕๐๐ ชาติ เป็นน้า ๕๐๐ ชาติ เป็นย่า ๕๐๐ ชาติ เป็นป้า ๕๐๐ ชาติ. ดังนั้น เพราะมีความรักที่ติดตามมาตลอดกาลยาวนาน พอเห็นพระทศพลก็สำคัญว่าบุตร จึงทนอยู่ไม่ได้. พระศาสดามิได้ตรัสว่า จงหลีกไป ตราบเท่าที่จิตใจของคนทั้งสองนั้นยังไม่รู้สึกตัว. ครั้งนั้น พอคนทั้งสองนั้นกลับได้สติตามเดิมแล้ว พระศาสดาทรงทราบอาสยะคืออัธยาศัยของเหล่าสัตว์ผู้วางใจเป็นกลางแล้ว ทรงแสดงธรรม. เมื่อจบเทศนา แม้ทั้งสองคนก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล.

ต่อมา เวลาทรงพระชรา พระศาสดาได้เสด็จไปยังนครแคว้นภัคคะอีก. คนทั้งสองนั้นทราบว่าพระศาสดาเสด็จมา ก็เข้าไปเฝ้า ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ อาราธนาเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ในวันรุ่งขึ้นก็เลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ในนิเวศน์ของตน พระศาสดาเสวยเสร็จ ก็เข้าไปใกล้ๆ นั่งที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว นกุลบิดาคฤหบดีจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กับนกุลมารดาคฤหปตานีแต่งงานกันครั้งเป็นหนุ่มเป็นสาว ข้าพระองค์มิได้ล่วงรู้ว่า นกุลมารดาคฤหปตานีจะนอกใจแม้ทางใจเลย ดังนั้น นางจะนอกใจทางกายได้แต่ที่ไหน ข้าพระองค์ปรารถนาจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายภาคหน้า พระเจ้าข้า. นกุลมารดาคฤหปตานีก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กับนกุลบิดาคฤหบดี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 81

แต่งงานกันครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ข้าพระองค์มิได้ล่วงรู้ว่า นกุลบิดาคฤหบดีจะนอกใจแม้ทางใจ ดังนั้น เขาจะนอกใจทางกายได้แต่ที่ไหน. ข้าพระองค์ปรารถนาจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายภาคหน้า พระเจ้าข้า. ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ทรงนำเรื่องของคนทั้งสองให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง แล้วทรงสถาปนานกุลบิดาคฤหบดีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้คุ้นเคย แล.

จบอรรถกถาอุบาสกบาลีประดับด้วยสูตร ๑๐ สูตร

จบประวัติอุบาสกสาวกเอตทัคคะ ๑๐ ท่าน

จบอรรถกถาวรรคที่ ๖