พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๕ ประวัตินางอุตตรานันทมารดา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38410
อ่าน  539

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 130

อรรถกถาสูตรที่ ๕

ประวัตินางอุตตรานันทมารดา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 130

อรรถกถาสูตรที่ ๕

๕. ประวัตินางอุตตรานันทมารดา

ในสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ณายีนํ ท่านแสดงว่า นางอุตตรานันทมารดาเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ยินดีในฌาน.

ดังได้สดับมา นางอุตตรานั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมกถาของพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 131

เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาผู้ยินดีในฌาน ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภริยาปุณณเศรษฐี (๑) ผู้อาศัยสุมนเศรษฐีอยู่ในกรุงราชคฤห์. บิดามารดาตั้งชื่อนางว่า อุตตรา. ในวันงานฉลองนักษัตรฤกษ์ครั้งหนึ่ง ราชคหเศรษฐีเรียกนายปุณณะมากล่าวว่า พ่อปุณณะ นักษัตรฤกษ์หรืออุโบสถจักทำอะไรให้แก่คนยากเข็ญได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าจงบอกมาว่า เจ้าจักรับทรัพย์ค่าใช้จ่ายในงานนักษัตรฤกษ์แล้ว เล่นนักษัตรฤกษ์ หรือจักพาโคมีกำลัง ผาล และไถ ไปไถนา นายปุณณะกล่าวว่า นายท่าน ผมจักปรึกษากับภริยาผมก่อนจึงจะรู้ แล้วบอกเรื่องนั้นแก่ภริยา. ภริยาเขากล่าวว่า ธรรมดาเศรษฐีเป็นนายเป็นอิสรชน คำพูดของเขาที่กล่าวกับท่านย่อมงดงาม ส่วนท่านอย่าสละการทำนาของตนเลย. นายปุณณะนั้นฟังคำภริยาแล้ว ก็ไปเพื่อนำเครื่องมือนำไปไถนา. ในวันนั้น พระสารีบุตรเถระออกจากนิโรธสมาบัติ นึกว่า วันนี้เราควรจะทำการสงเคราะห์ใคร ก็เห็นอุปนิสัยของนายปุณณะนี้ ในเวลาแสวงหาอาหารจึงถือบาตรจีวรไปยังที่ๆ นายปุณณะไถนา แสดงตัวในที่ไม่ไกล. นายปุณณะเห็นพระเถระก็หยุดไถนา ไปหาพระเถระ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์. พระเถระแลดูเขาแล้ว ถามถึงน้ำที่ใช้ได้. เขาคิดว่า พระผู้เป็นเจ้านี้จักต้องการบ้วนปาก จึงรีบไปจากที่นั้น นำไม้ชำระฟันมาทำให้เป็นกัปปิยะ ของสมควร แล้วถวายพระเถระ เมื่อพระเถระกำลังเคี้ยวไม้ชำระฟัน ก็นำธมกรก หม้อกรองน้ำ กับบาตรออก แล้ว


(๑) ม. ปุณฺณสีหสฺส นามของบุรุษชื่อว่า ปุณณสีหะ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 132

ใส่น้ำเต็ม แล้วนำมา. พระเถระก็บ้วนปาก เดินทางแสวงหาอาหาร.

นายปุณณะคิดว่า พระเถระไม่เดินทางนี้ในวันอื่นๆ แต่วันนี้ที่จักเดินทางเพื่อสงเคราะห์เรา โอหนอ ภริยาของเราพึงวางอาหารที่จะนำมาให้เราลงในบาตรพระเถระ. ครั้งนั้น ภริยาของเขาคิดว่า วันนี้เป็นวันนักษัตรฤกษ์ จึงจัดของเคี้ยวของบริโภค โดยทำนองที่ตนจะได้ถือไปแต่เช้าตรู่ มายังสถานที่สามีไถนา ระหว่างทางพบพระเถระจึงคิดว่า เราพบพระเถระในวันอื่นๆ ไทยธรรมไม่มี แม้เมื่อมีไทยธรรมเราก็ไม่พบพระเป็นเจ้า แต่วันนี้ ทั้งสองอย่างมีพร้อมหน้าแล้ว จำเราจะจัดแจงส่วนของสามีของเรานำมาใหม่ จักถวายอาหารส่วนนี้แด่พระเถระเสียก่อน ทำทานให้ประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓ แล้ววางโภชนะนั้นลงในบาตรพระสารีบุตรเถระ แล้วกล่าวว่า ขอดิฉันจงพ้นจากชีวิตยากเข็ญในโลกนี้ด้วยทานอย่างนี้เถิดเจ้าข้า. แม้พระเถระก็ทำอนุโมทนาแก่นางว่า ขออัธยาศัยของนางจงเต็มเทอญ กลับจากที่นั้นแล้วก็ไปวิหาร. แม้นางก็กลับบ้านตนอีก แล้วจัดหาอาหารสำหรับสามี นำไปยังสถานที่สามีไถนา กลัวสามีจะโกรธจึงกล่าวว่า นายจ๋า วันนี้ขอนายจงอดกลั้นใจของนายไว้วันหนึ่งเถิด. เขาถามว่า เพราะเหตุไร. นางตอบว่า วันนี้ดิฉันกำลังนำอาหารมาสำหรับนาย ระหว่างทางพบพระเถระ จึงวางอาหารส่วนของนายลงในบาตรพระเถระ จึงกลับไปเรือนอีก หุงต้มอาหารแล้วนำมาบัดนี้. เขากล่าวว่า น้องเอ๋ย เจ้าทำถูกใจจริงๆ ถึงฉันก็ถวายไม้ชำระฟันและน้ำบ้วนปากแด่พระเถระแต่เช้าตรู่ วันนี้ช่างเป็นโชคของเราจริงๆ แม้ของทั้งหมดที่เราถวายพระเถระ ก็เกิดเป็นสมบัติของเราทั้งนั้น. แม้ทั้งสองคนก็มีจิตเสมือนเป็นอันเดียวกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 133

ครั้งนั้น นายปุณณะกินอาหารเสร็จแล้ว ก็เอาศีรษะหนุนตักภริยานอนครู่หนึ่ง. ขณะนั้น เขาก็หลับไป. เขาหลับไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ตื่น มองดูสถานที่ไถนา มองดูแล้วมองดูอีก ก็ได้เป็นประหนึ่งเต็มไปด้วยดอกบวบขมขนาดใหญ่ เขาจึงพูดกะภริยาว่า น้องเอ๋ย นั่นอะไรกัน วันนี้สถานที่ไถนานี้ปรากฏเป็นทองไปได้. ภริยาพูดว่า นายท่าน วันนี้เพราะนายท่านเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ชะรอยดวงตาจะพร่าไปก็ได้. เขาพูดว่า น้องเอ๋ย เจ้าไม่เชื่อพี่ก็มองดูเองสิ. เวลานั้นภริยามองดูแล้วก็พูดว่า นายท่านพูดจริง นั่นคงจักเป็นอย่างนั้น. นายปุณณะลุกขึ้น จับไม้อันหนึ่งตีที่หัวขี้ไถ. ดินหัวขี้ไถก็เป็นเหมือนเม็ดกลมๆ ฝั่งอยู่ในดินหัวขี้ไถฉะนั้น. เขาเรียกภริยามากล่าวว่า น้องเอ๋ย เมื่อคนอื่นๆ หว่านเมล็ดพืช พืชก็ให้ผล ๓ - ๔ เดือน ส่วนผลทานที่ให้ในวันนี้ ก็ด้วยพืชคือศรัทธาที่เราปลูกลงในระหว่างท่านพระสารีบุตรเถระพระผู้เป็นเจ้าของเรา. ในพื้นที่ประมาณกรีสหนึ่งนี้ ทองแม้ขนาดเท่าผลมะขามป้อม ชื่อว่าไม่ใช่ทอง ไม่มีเลย. ภริยาพูดว่า นายท่าน บัดนี้เราจักทำอย่างไรเล่า. นายปุณณะพูดว่า น้องเอ๋ย เราไม่อาจนำทองเท่านี้ไปกินได้ดอก แล้วใส่ทองเต็มถาดที่ภริยานำมาวางไว้ในที่นั้น ให้ภริยานำไปกราบทูลพระราชาว่า มนุษย์ผู้หนึ่งยืนถือถาดใส่ทอง พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้เรียกเขาเข้าไป ตรัสถามว่า พ่อเอ๋ย เจ้าได้มาแต่ที่ไหน. เขากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ สถานที่ข้าพระองค์ไถนาแห่งหนึ่ง ขอได้โปรดส่งคนไปให้ขนทองที่เกิดแล้วทั้งหมดมาเสีย พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า เจ้าชื่ออะไร. ทูลตอบว่า ชื่อว่าปุณณะ พระเจ้าข้า. ตรัสสั่งว่า พนาย พวกเจ้าจงไปเทียมเกวียนขนทองมาจากสถานที่นายปุณณะไถนา. เหล่าราชบุรุษไปกับ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 134

เหล่าเกวียน กล่าวว่า บุญของพระราชา ถือเอาก้อนทองไป. ก้อนทองที่ถือเอานั้นก็เป็นก้อนดินขี้ไถไป. ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลพระราชา. พระราชาตรัสว่า พนาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงไปกล่าวว่า บุญของนายปุณณะ แล้วถือเอาทอง. สิ่งที่เขาถือเอาเป็นทองไปทั้งนั้น. ราชบุรุษเหล่านั้นก็นำทองทั้งหมดนั้นมากองไว้ที่พระลานหลวง. กองสูงประมาณเท่าต้นตาล. พระราชาโปรดให้เรียกพวกพ่อค้ามาตรัสถามว่า ในเรือนใดมีทองเท่านี้บ้าง. พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ของใครๆ ก็ไม่มี พระเจ้าข้า. ตรัสปรึกษาว่า เราควรจะทำอะไรแก่เจ้าของทรัพย์เท่านี้เล่า กราบทูลว่า ควรตั้งเขาเป็นธนเศรษฐีสิพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงแต่งตั้งปุณณะชื่อว่าธนเศรษฐีในพระนครนี้. แล้วพระราชทานของทั้งหมดนั้นแก่นายปุณณะนั้นเท่านั้น พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขาในวันนั้นนั่นเอง. เศรษฐีนั้น เมื่อกระทำมงคล ก็ได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน. ในวันที่ ๗ เมื่อพระทศพลทรงทำการอนุโมทนาในภัตทานของปุณณเศรษฐีก็ดี ภริยาก็ดี ธิดาก็ดี ทั้งหมดก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

ภายหลัง ราชคหเศรษฐีทราบว่า ปุณณเศรษฐีมีธิดาสาวกเจริญวัยอยู่ จึงส่งสาสน์ไปเรือนของปุณณเศรษฐีนั้น ขอธิดาเพื่อบุตรของตน. ปุณณเศรษฐีนั้น ฟังสาสน์ราชคหเศรษฐีนั้นแล้วก็ส่งสาสน์ตอบไปว่า เราไม่ให้ธิดาดอก. ฝ่ายสุมนเศรษฐี [ราชคหเศรษฐี] ส่งสาสน์ไปอีกว่า ท่านอาศัยเรือนเราอยู่ บัดนี้ ก็เป็นอิสรชนโดยทันทีทันใด แล้วยังจะไม่ให้ธิดาแก่เราหรือ. แต่นั้น ปุณณเศรษฐีก็ตอบว่า ท่านพูดถึงแต่สภาพเศรษฐีของท่านก่อนเท่านั้น ชื่อว่าบุรุษ ท่านไม่ควรกำหนดเอาว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 135

ต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดกาล ความจริงเราสามารถรับเอาพวกบุรุษเช่นนั้นทำเป็นทาสก็ได้นะ แต่เราไม่อาจเอื้อมถึงชาติและโคตรของท่านได้ดอก. อนึ่งเล่า ธิดาของเราก็เป็นพระอริยสาวิกาผู้พระโสดาบัน กระทำการบูชาด้วยดอกไม้มีค่าหลายกหาปณะทุกๆ วัน เราจักไม่ส่งธิดาไปเรือนคนมิจฉาทิฏฐิเช่นท่าน. ราชคหเศรษฐีรู้ว่าปุณณเศรษฐีปฏิเสธอย่างนั้น ก็ส่งสาสน์ไปอีกว่า โปรดอย่าทำลายความสนิทสนมเก่าๆ เสียเลย เราจักให้จัดดอกไม้มีค่า ๒ กหาปณะทุกๆ วันแก่สะใภ้ของเรา. ปุณณเศรษฐีก็ตอบรับ แล้วส่งธิดาไปเรือนของราชคหเศรษฐีนั้น.

ต่อมาวันหนึ่ง นางอุตตราธิดาของปุณณเศรษฐีนั้นก็กล่าวกะสามีของตนอย่างนี้ว่า ดิฉันทำอุโบสถกรรมประจำเดือนละ ๘ วัน ในเรือนสกุลของตน แม้บัดนี้ เมื่อท่านรับให้ความยินยอมได้ เราก็จะพึงอธิษฐานองค์อุโบสถ. สามีนั้นกล่าวว่า ฉันยินยอมไม่ได้ แล้วก็ไม่รับคำ. นางไม่อาจทำสามีนั้นให้ยินยอมได้ก็นิ่งเสีย คิดว่า เราจักอธิฐานองค์อุโบสถภายในพรรษาอีก แม้ครั้งนั้น เมื่อนางขอโอกาส ก็ไม่ได้โอกาสอีกนั่นเอง. ภายในพรรษา ล่วงไป ๒ เดือนครึ่ง ยังเหลืออยู่ครึ่งเดือน นางจึงส่งข่าวไปบอกบิดามารดาว่า ดิฉันถูกท่านพ่อท่านแม่ส่งไปขังไว้ในที่กักขังตลอดกาลยาวนานเท่านี้แล้ว จะอธิษฐานองค์อุโบสถแม้ตลอดวันหนึ่งก็ไม่ได้ โปรดส่งกหาปณะแก่ดิฉัน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะเถิด. บิดามารดาฟังข่าวธิดาแล้ว ก็ไม่ถามว่าเพราะเหตุไร ส่งเงินไปให้เลย. นางอุตตรารับกหาปณะเหล่านั้นแล้ว. มีหญิงโสเภณีชื่อสิริมาอยู่ในนครนั้น จึงให้เรียกนางมาแล้วกล่าวว่า แม่สิริมาจ๋า ดิฉันจักอธิฐานองค์อุโบสถตลอดครึ่งเดือนนี้ ขอแม่นางจงรับกหาปณะ ๑๕,๐๐๐ กหาปณะเหล่านี้ไว้ แล้วบำเรอ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 136

บุตรเศรษฐีตลอดครึ่งเดือนนี้. นางสิริมาก็รับปากว่า ดีละ แม่เจ้า. ตั้งแต่นั้นมา บุตรเศรษฐีคิดว่า เราจักสำเริงสำราญกับนางสิริมา จึงอนุญาตให้นางอุตตรารับอุโบสถกรรมตลอดครึ่งเดือน. นางอุตตรารู้ว่าสามีรับปากยินยอมแล้ว มีหมู่ทาสีแวดล้อม จัดแจงของเคี้ยวของฉันด้วยมือเองแต่เช้าตรู่ทุกๆ วัน เมื่อพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จ เสด็จไปวิหารแล้ว ก็อธิษฐานองค์อุโบสถ ขึ้นปราสาทอันประเสริฐ นั่งระลึกถึงศีลของตน. ล่วงเวลาไปครึ่งเดือนด้วยอาการอย่างนี้ ในวันสละอุโบสถ นางจึงเที่ยวจัดแจงข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้นแต่เช้าตรู่.

เวลานั้น บุตรเศรษฐีอยู่บนปราสาทอันประเสริฐกับนางสิริมา เปิดหน้าต่างกรุตาข่าย ยืนดูสิ่งของไปตามลำดับ นางอุตตราแหงนดูไปทางช่องหน้าต่าง. บุตรเศรษฐีมองดูนางอุตตราคิดว่า หญิงผู้นี้คงถือกำเนิดแต่สัตว์นรกหนอ ละสมบัติอย่างนี้ แล้วเป็นผู้เปรอะเปื้อนด้วยเขม่าหม้อข้าว วุ่นวายอยู่ระหว่างทาสีทั้งหลายโดยหาควรแก่เหตุไม่ แล้วกระทำการยิ้มแย้ม นางอุตตราทราบความที่บุตรเศรษฐีนั้นประมาท คิดว่า บุตรเศรษฐีนี้ชื่อว่าเป็นคนเขลา คงจักสำคัญว่า สมบัติของตนจะอยู่ถาวรทุกเวลา ดังนี้แล้ว แม้ตนเองก็ทำการยิ้มแย้มบ้าง. แต่นั้น นางสิริมาก็โกรธ แล้วบริภาษว่า นางทาสีผู้นี้ เมื่อเรายืนอยู่ก็ยังทำการยิ้มแย้มกับสามีของเราอย่างนี้ จึงรีบลงจากปราสาท. โดยอากัปกิริยาที่มาของนางสิริมานั้นนั่นแหละ นางอุตตราก็ทราบว่า หญิงโง่คนนี้ อยู่ในเรือนหลังนี้เพียงครึ่งเดือนก็เกิดสำคัญว่า เรือนหลังนี้เป็นของเราคนเดียว ดังนี้ ทันใดนั้นนั่นเอง ก็ยืนเข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์. ฝ่ายนางสิริมา ก็มาในระหว่างทาสีทั้งหลาย จับกระบวยเต็มด้วยน้ำมันที่เดือดในกระทะทอดขนม ราดลงบนศีรษะ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 137

นางอุตตรา. ด้วยการแผ่เมตตาฌาน น้ำมันเดือดที่นางสิริมาราดลงบนศีรษะนางอุตตรา ก็ไหลกลับไป เหมือนน้ำที่ราดลงบนใบบัวฉะนั้น.

ขณะนั้น ทาสีทั้งหลายที่ยืนใกล้นางสิริมา เห็นเหตุนั้นแล้วก็บริภาษนางสิริมานั้นต่อหน้าว่า ไฮ้ แม่มหาจำเริญ เจ้ารับมูลค่าจากมือแม่นายของเรามาอยู่ในเรือนหลังนี้ ยังพยายามจะมาทำเทียมแม่นายของพวกข้าหรือ. ขณะนั้น นางสิริมารู้ว่า ตัวเป็นอาคันตุกะมาอยู่ชั่วคราว ก็ไปจากที่นั้นแล้วหมอบลงแทบเท้านางอุตตรา กล่าวว่า แม่นาง ดิฉันไม่ทันใคร่ครวญก็ทำกรรมอย่างนี้ โปรดยกโทษให้ดิฉันเสียเถิด. นางอุตตรากล่าวว่า แม่สิริมาจ๋า ฉันยกโทษให้แม่ในฐานะนี้ไม่ได้ดอก ฉันเป็นธิดามีบิดา จะยกโทษให้ก็ต่อเมื่อพระทศพลทรงยกโทษให้แม่เท่านั้น.

แม้พระศาสดามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ก็เสด็จมาประทับเหนืออาสนะที่จัดไว้ ณ นิเวศน์ของนางอุตตรา. นางสิริมาจึงไปหมอบแทบพระยุคลบาทพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กระทำความผิดอย่างหนึ่งในระหว่างแม่นางอุตตรา นางกล่าวว่า เมื่อพระองค์ทรงยกโทษประทาน เราก็จักยกโทษให้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดทรงยกโทษประทานแก่ข้าพระองค์ซึ่งขมาโทษอยู่ด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สิริมา เรายกโทษให้เจ้า. เวลานั้น นางสิริมานั้นก็ไปขอให้นางอุตตรายกโทษให้. และในวันนั้น นางสิริมาฟังอนุโมทนาภัตทานของพระทศพลว่า

อกฺโกเธน ชิเน โกธํ

อสาธุํ สาธุนา ชิเน

ชิเน กทริยํ ทาเนน

สจฺเจนาลิกวาทินํ.

พึงชำนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชำนะ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 138

คนไม่ดีด้วยความดี พึงชำนะคนตระหนี่ด้วยการให้

พึงชำนะคนพูดเท็จด้วยคำจริง.

เมื่อจบพระคาถา ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นิมนต์พระทศพล ถวายมหาทานในวันรุ่งขึ้น. เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างนี้. ภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนานางอุตตรานันทมารดาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกา ผู้เข้าฌานแล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๕