พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๖ ประวัติพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38411
อ่าน  430

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 138

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ประวัติพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 138

อรรถกถาสูตรที่ ๖

๖. ประวัติพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา

ในสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า ณีตทายิกานํ ท่านแสดงว่า พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต.

ดังได้สดับมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลกษัตริย์ พระนครโกลิยะ. พระประยูรญาติจึงขนานพระนามพระนางว่า สุปปวาสา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 139

ทรงเจริญวัยแล้ว อภิเษกกับศากยกุมารพระองค์หนึ่ง ด้วยการเข้าเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น สดับธรรมกถาของพระศาสดา ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ต่อมา พระนางประสูติพระโอรสพระนามว่า สีวลี. เรื่องของพระสีวลีนั้น กล่าวไว้พิสดารแล้วแต่หนหลัง. วันหนึ่ง พระนางถวายโภชนะอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. พระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว เมื่อทรงกระทำอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมนี้แก่พระนางสุปปวาสาว่า ดูก่อน สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ถวายโภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะทั้ง ๕ แก่พวกปฏิคาหก คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุข ให้พละ ให้ปฏิภาณ. ก็แล ผู้ให้อายุย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ฯลฯ ผู้ให้ปฏิภาณย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างนี้. ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งพระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ จึงทรงสถาปนาพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกา ผู้ถวายของมีรสประณีต แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๖