พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๗ ประวัตินางสุปปิยาอุบาสิกา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38412
อ่าน  425

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 139

อรรถกถาสูตรที่ ๗

ประวัตินางสุปปิยาอุบาสิกา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 139

อรรถกถาสูตรที่ ๗

๗. ประวัตินางสุปปิยาอุบาสิกา

ในสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า คิลานุปฏฺากานํ ท่านแสดงว่า นางสุปปิยาอุบาสิกา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 140

เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้.

ดังได้สดับมา นางสุปปิยาอุบาสิกานี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ. บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมากำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงพาราณสี. บิดามารดาจึงตั้งชื่อนางว่า สุปปิยา. ต่อมา พระศาสดามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี. ด้วยการเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น นางฟังธรรมแล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. อยู่มาวันหนึ่ง นางไปพระวิหารเพื่อฟังธรรม เที่ยวจาริกไปในพระวิหาร พบภิกษุไข้รูปหนึ่ง ไหว้แล้วทำการต้อนรับ ถามว่า พระผู้เป็นเจ้าควรจะได้อะไร ภิกษุไข้ตอบว่า ท่านอุบาสิกา ควรได้อาหารมีรส [เนื้อ] จ้ะ. นางกล่าวว่า เอาเถิด เจ้าข้า ดิฉันจักส่งไปถวาย ไหว้พระเถระแล้วเข้าไปในเมือง วันรุ่งขึ้น ก็ส่งทาสีไปตลาดเพื่อต้องการปวัตตมังสะ [เนื้อที่ขายกันในตลาด]. ทาสีนั้นหาปวัตตมังสะทั่วเมืองก็ไม่ได้ ก็บอกนางว่า ไม่ได้เสียแล้ว. อุบาสิกาคิดว่า เราบอกแก่พระผู้เป็นเจ้าไว้ว่า จักส่งเนื้อไปถวาย ถ้าเราไม่ส่งไป พระผู้เป็นเจ้าเมื่อไม่ได้จากที่อื่นก็จะลำบาก ควรที่เราจะทำเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่งส่งไปถวาย แล้วก็เข้าห้อง เฉือนเนื้อขาให้แก่ทาสี สั่งว่า เจ้าจงเอาเนื้อนี้ปรุงด้วยเครื่องปรุง นำไปวิหารถวายพระผู้เป็นเจ้า ถ้าท่านถามถึงเรา ก็จงแจ้งว่า เป็นไข้. ทาสีนั้นก็ได้กระทำอย่างนั้น.

พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น วันรุ่งขึ้น เวลาแสวงหาอาหาร ก็มี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 141

ภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จไปเรือนของอุบาสิกา. นางทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา จึงปรึกษาสามีว่า ลูกเจ้า ดิฉันไม่อาจไปเฝ้าพระศาสดาได้ พี่ท่านจงไปกราบทูลเชิญพระศาสดาให้เสด็จเข้าเรือน แล้วให้ประทับนั่งเถิด. สามีนั้นก็ได้กระทำอย่างนั้น. พระศาสดาตรัสถามว่า สุปปิยาไปไหนเสียเล่า. สามีกราบทูลว่า นางเป็นไข้ พระเจ้าข้า. ตรัสสั่งว่า จงเรียกนางมาเถิด. นางคิดว่า พระศาสดาทรงสงเคราะห์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง ทรงทราบเหตุของเราจึงให้เรียกหา ก็ลุกขึ้นจากเตียงอย่างฉับพลัน. ครั้งนั้น ด้วยพุทธานุภาพ แผล [ที่เฉือนเนื้อขา] ของนางก็งอกขึ้นทันทีทันใด ผิวก็เรียบ ผิวพรรณผ่องใสยิ่งกว่าเดิม. ขณะนั้น อุบาสิกาก็ยิ้มได้ ถวายบังคมพระทศพลด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่ง ณ ที่ สมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงดำริว่า อุบาสิกาผู้นี้ไม่สบายเพราะเหตุไร จึงตรัสถาม นางจึงเล่าเรื่องที่ตนทำทุกอย่างถวาย. พระศาสดาเสวยเสร็จแล้วเสด็จไปพระวิหาร ทรงประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงตำหนิภิกษุนั้นเป็นอย่างมาก ทรงบัญญัติสิกขาบท. เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างนี้. ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนานางสุปปิยาอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกา ผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้ แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๗