[คำที่ ๕๓๐] กตปาป

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38425
อ่าน  617

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กตปาป”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กตปาป อ่านตามภาษาบาลีว่า กะ - ตะ - ปา - ปะ มาจากคำว่า กต (ทำแล้ว) กับ คำว่า ปาป (บาป, ความชั่ว) รวมกันเป็น กตปาป แปลว่า บุคคลผู้มีบาปอันตนทำแล้ว, ผู้ทำบาป, ผู้ทำชั่ว เป็นอีก ๑ คำ ที่แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เมื่อถูกอกุศลครอบงำ สะสมจนมีกำลังกล้า ก็สามารถทำชั่ว ทำสิ่งที่ไม่ดีประการต่างๆ ได้ เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่าบุคคลนั้นๆ เป็นอย่างไร ถ้าทำชั่ว ทำบาป ก็เรียกว่า เป็นบุคคลผู้มีบาปอันตนทำแล้ว หรือ เป็นบุคคลผู้ทำบาป ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มี มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น

บุคคลผู้ที่ทำบาป นั้น เป็นผู้ทำเหตุที่ไม่ดี ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อน เกิดความทุกข์มากมายในภายหน้า ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระเทวทัตเกิดแล้ว ณ ที่ไหน?” พระศาสดาตรัสว่า “ในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัต ประพฤติเดือดร้อนในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในสถานที่เดือดร้อนนั่นแลอีกหรือ?”

พระศาสดา ตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลาย จะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ ก็ตาม, มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง, เขาย่อมเดือดร้อนว่า ‘กรรมชั่ว เราทำแล้ว’ ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น”


ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เป็นไปในแต่ละขณะแต่ละวัน ในฐานะของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อยู่นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ที่กล่าวว่าดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใส) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนในธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้เลย

ธรรมฝ่ายที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะเบียดเบียนตนเองแล้ว บางครั้งยังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ยิ่งเมื่อกิเลสมีกำลังแรงกล้าถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำชั่วประการต่างๆ แล้ว นั่นย่อมเป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลสในขณะนั้นว่ามีกำลังมากทีเดียว ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ย่อมมีการกระทำ มีคำพูด ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งก็คือ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

บุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของความชั่วหรือบาปไว้มาก และได้ทรงแสดงคุณของความดีประการต่างๆ ไว้มากเช่นเดียวกัน แต่ว่าก็ยังมีผู้ที่ทำชั่วหรือทำบาปอยู่ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้ากิเลสที่ได้สะสมมามีกำลังเมื่อใด ก็แสดงความเป็นอนัตตาเมื่อนั้น คือทำชั่วไปในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำชั่ว เพราะความชั่วที่ได้ทำไปแล้วนั้น ให้ผลเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส มีทุกข์ในนรก เป็นต้น โดยไม่มีใครทำให้เลย นอกจากเป็นเพราะความชั่วของตนเองที่ตนเองได้ทำแล้ว เท่านั้น จะโทษใครไม่ได้เลย

บุคคลผู้ที่จะดับเหตุที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ซึ่งจะทำให้ตนเองติเตียนตนเองได้ ถ้าได้ทำชั่วไปแล้วเกิดการระลึกได้ ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่ได้ทำชั่ว หรือว่า นอกจากนั้น บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้รู้ ก็ยังติเตียนได้อีกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างยิ่ง

เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงบุคคลที่ทำชั่ว เช่น พระเทวทัต เป็นต้น ก็เป็นอนุสสติเตือนใจให้ทุกคนเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) โลภะ ยังมี โทสะ ยังมี โมหะ ยังมี อกุศลธรรมอย่างอื่น ยังมี วันหนึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำชั่วได้ ที่จะทำให้ไปเกิดในอบายภูมิและได้รับความทุกข์ทรมาน ก็อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว สิ่งที่จะเป็นเครื่องต้านทานกำลังของกิเลสได้นั้น ก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก

ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะเตือนตนเองบ่อยๆ ด้วยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่ทำชั่วประการต่างๆ ที่สำคัญ คือ เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่การประพฤติด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความอยาก แต่ด้วยความเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อมีความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุทำให้ขัดเกลาละคลายความชั่วเหล่านั้นให้น้อยลงได้ตามระดับขั้นของปัญญา จนกว่าความชั่วจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยด้วยปัญญาที่เจริญสมบูรณ์เป็น โลกุตตรปัญญาสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญาจึงเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีทรัพย์ใดๆ เทียบได้เลย นำมาซึ่งประโยชน์สุขเท่านั้น ซึ่งการที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับได้นั้น ต้องไม่ขาดเหตุสำคัญ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียด รอบคอบ และด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 18 ต.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ