พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. อันธสูตร ว่าด้วยคนตาบอด - ตาเดียว - สองตา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38650
อ่าน  436

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 94

ปฐมปัณณาสก์

ปุคคลวรรคที่ ๓

๙. อันธสูตร

ว่าด้วยคนตาบอด - ตาเดียว - สองตา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 94

๙. อันธสูตร

ว่าด้วยคนตาบอด - ตาเดียว - สองตา

[๔๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร? คือ (อนฺธ) คนบอด (เอกจกฺขุ) คนตาเดียว (ทฺวิจกฺขุ) คนสองตา

ก็บุคคลบอดเป็นอย่างไร? บุคคลลางคนในโลกนี้ ไม่มีดวงตา ที่เป็นเหตุจะให้ได้โภคทรัพย์อันยังไม่ได้ก็ดี เป็นเหตุจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี ทั้งไม่มีดวงตา (คือ ปัญญา) ที่เป็นเหตุจะให้รู้ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล ... อันมีโทษและไม่มีโทษ ... อันหยาบและละเอียด ... อันเป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลบอด.

ก็บุคคลตาเดียวเป็นอย่างไร? บุคคลลางคนในโลกนี้ มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้ได้โภคทรัพย์อันยังไม่ได้ก็ดี เป็นเหตุจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้นก็ดี แต่ไม่มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้รู้ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล ฯลฯ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลตาเดียว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 95

ก็บุคคลสองตาเป็นอย่างไร? บุคคลลางคนในโลกนี้ มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้ได้โภคทรัพย์ ฯลฯ ทั้งมีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้รู้ธรรมทั้งหลาย ฯลฯ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลสองตา.

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก.

(นิคมคาถา)

คนตาบอดมืด เคราะห์ร้ายทั้ง ๒ ทาง คือ โภคทรัพย์อย่างที่ว่าก็ไม่มี ความดีก็ไม่ทำ.

ส่วนอีกคนหนึ่งนี้ เรียกว่า บุคคลตาเดียว ประกอบด้วยธรรมบ้าง และอธรรมบ้าง แสวงหาแต่โภคทรัพย์ เป็นคนครองกามที่ฉลาดรวบรวมทรัพย์ ด้วยการขโมย การโกง และการปลิ้นปล้อน บุคคลตาเดียวนั้น จากโลกนี้ไปนรก ย่อมเดือดร้อน.

ส่วนผู้ที่เรียกว่า คนสองตา เป็นบุคคลประเสริฐ ให้ทรัพย์ที่ได้ด้วยความขยันจากกองโภคะที่ตนหาได้โดยชอบ (เป็นทาน) มีความคิดที่ประเสริฐ มีใจไม่เคลือบแคลง ย่อมเข้าถึงฐานะอันเจริญ ซึ่งเป็นฐานะที่ถึงแล้วไม่เศร้าใจ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 96

ควรหลีกคนบอดและคนตาเดียวเสียให้ไกล ควรคบแต่คนสองตาซึ่งเป็นบุคคลประเสริฐ.

จบอันธสูตรที่ ๙

อรรถกถาอันธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอันธสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า จกฺขุ น โหติ ได้แก่ ไม่มีปัญญาจักษุ. บทว่า ผาตึ กเรยฺย ความว่า พึงทำโภคะ (ที่ได้มาแล้ว) ให้คงอยู่ คือ ให้เจริญ. บทว่า สาวชฺชานวชฺเช ได้แก่ ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ บทว่า หีนปฺปณีเต ได้แก่ ธรรมขั้นต่ำและขั้นสูง. บทว่า กณฺหสุกฺกสปฺปฏิภาเค ความว่า ธรรมดำและธรรมขาวนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีความเป็นปฏิภาคกัน โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะขัดขวางกันและกัน. ก็ในบทนี้ มีความย่อดังต่อไปนี้ บุคคลพึงรู้จักกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม. พึงรู้จักอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม. แม้ในบทมีอาทิว่า ธรรมที่มีโทษเป็นต้น ก็มีนัยนี้แล. ส่วนในธรรมที่มีความเป็นปฏิภาคกัน ทั้งธรรมดำและธรรมขาว ธรรมดำบุคคลพึงรู้ว่ามีความเป็นปฏิภาคกับธรรมขาว ธรรมขาวบุคคลพึงรู้ว่าเป็นปฏิภาคกับธรรมดำด้วยปัญญาจักษุใด จักษุแม้เห็นปานนั้นของบุคคลนั้นไม่มี บุคคลพึงทราบความหมาย แม้ในวาระที่เหลือโดยนัย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 97

ดังกล่าวมานี้แล.

บทว่า น เจว โภคา ตถารูปา ความว่า แม้โภคะชนิดนั้น ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น. บทว่า น จ ปุญฺานิ กุพฺพติ ความว่า และเขาย่อมไม่ทำบุญ. ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันตรัสถึงความไม่มีแห่งจักษุที่เป็นเหตุให้โภคะเกิดขึ้น และจักษุที่ทำให้เกิดญาณ (ปัญญาจักษุ). บทว่า อุภยตฺถ กลิคฺคโห ได้แก่ ถือผิด อธิบายว่า ถือพลาดในโลกทั้ง ๒ คือ ในโลกนี้ และในโลกหน้า. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุภยตฺถ กลิคฺคโห คือ ถือประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ที่เป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพว่าเป็นโทษ อธิบายว่า ถือเป็นความผิด. บทว่า ธมฺมาธมฺเมน ได้แก่ ด้วยธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ บ้าง ด้วยธรรม คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ บ้าง. บทว่า สโ ได้แก่ มักโอ่. บทว่า โภคานิ ปริเยสติ คือ แสวงหาโภคะทั้งหลาย.

บทว่า เถยฺเยน กูฏกมฺเมน มุสาวาเทน จูภยํ ความว่า แสวงหาโภคะทั้งหลายด้วยกรรมทั้งสอง ในบรรดากรรมมีไถยกรรมเป็นต้น. ถามว่า แสวงหาด้วยกรรมทั้งสองอย่างไร. ตอบว่า อย่างนี้ คือ แสวงหาโภคะทั้งหลายด้วยไถยกรรม (การลักขโมย) และกูฏกรรม (การฉ้อโกง) ได้แก่ แสวงหาด้วยไถยกรรมและมุสาวาท และแสวงหาด้วยกูฏกรรมและมุสาวาท. บทว่า สงฺฆาตุํ แปลว่า เพื่อรวบรวม. บทว่า ธมฺมลทฺเธหิ ได้แก่ ที่ได้มาโดยไม่ให้เสียธรรม คือ กุศลกรรมบถสิบ. บทว่า อุฏฺานาธิคตํ คือ ที่ได้มาด้วยความเพียร. บทว่า อพฺยคฺคมานโส คือ มีจิตปราศจากวิจิกิจฉา. บทว่า ภทฺทกํ านํ คือ สถานที่ที่ดีที่สุด ได้แก่ เทวสถาน. บทว่า น โสจติ คือ เป็นที่ที่ถึงแล้วไม่เศร้าโศกด้วยความเศร้าโศกภายใน.

จบอรรถกถาอันธสูตรที่ ๙