พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อาตัปปสูตร ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38672
อ่าน  348

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 208

ปฐมปัณณาสก์

จูฬวรรคที่ ๕

๑๐. อาตัปปสูตร

ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 208

๑๐. อาตัปปสูตร

ว่าด้วยความเพียร ๓ ประการ

[๔๘๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเพียรพึงกระทำโดยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ ความเพียรพึงกระทำเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนขมขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำความเพียรเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่ออดกลั้นซึ่งเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนขมขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ.

จบอาตัปปสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาอาตัปปสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอาตัปปสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อาตปฺปํ กรณียํ ความว่า ควรประกอบความเพียร. บทว่า อนุปฺปาทาย ความว่า เพื่อต้องการไม่ให้เกิดขึ้น อธิบายว่า ต้องทำด้วยเหตุนี้ คือ ด้วยคิดว่า เราจักตรวจตราไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น. แม้ต่อจากนี้ไปก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 209

บทว่า สารีริกานํ ได้แก่ ที่เกิดในสรีระ. บทว่า ทุกฺขานํ ความว่า (เวทนาทั้งหลาย) ที่เป็นทุกข์. บทว่า ติปฺปานํ ได้แก่ หนาแน่น หรือกล้าด้วยสามารถแห่งการแผดเผา. บทว่า ขรานํ ได้แก่ หยาบ. บทว่า กฏฺกานํ ได้แก่ เผ็ดร้อน. บทว่า อสาตานํ ได้แก่ ไม่หวาน. บทว่า อมนาปานํ ได้แก่ ไม่สามารถให้เจริญใจได้. บทว่า ปาณหรานํ ได้แก่ ตัดชีวิต. บทว่า อธิวาสนาย ได้แก่ เพื่อต้องการยับยั้ง คือ เพื่อต้องการอดทน ได้แก่ เพื่อต้องการอดกลั้น.

พระศาสดาครั้นทรงบังคับ คือ ทรงยังอาณัติสงฆ์ให้เป็นไปในฐานะมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงชักชวน (ภิกษุทั้งหลาย) จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยโต โข ภิกฺขเว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต ได้แก่ ยทา แปลว่า เมื่อใด. บทว่า อาตาปี ได้แก่ มีความเพียร. บทว่า นิปโก ได้แก่ มีปัญญา. บทว่า สโต ได้แก่ ประกอบด้วยสติ. บทว่า ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ได้แก่ เพื่อทำทางรอบด้านแห่งวัฏทุกข์ให้ขาดตอน. คุณธรรม ๓ อย่าง มีความเพียรเป็นต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.

จบอรรถกถาอาตัปปสูตรที่ ๑๐