พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. มหาโจรสูตร ว่าด้วยองค์ของโจรและของภิกษุอลัชชี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38673
อ่าน  464

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 210

ปฐมปัณณาสก์

จูฬวรรคที่ ๕

๑๑. มหาโจรสูตร

ว่าด้วยองค์ของโจรและของภิกษุอลัชชี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 210

๑๑. มหาโจรสูตร

ว่าด้วยองค์ของโจรและของภิกษุอลัชชี

[๔๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรได้องค์ ๓ ย่อมตัดช่องย่องเบาบ้าง ปล้นสะดมบ้าง ทำการล้อมบ้านหลังเดียวแล้วปล้นบ้าง คอยดักชิงเอาที่ทางเปลี่ยวบ้าง องค์ ๓ คืออะไร คือ มหาโจรได้อาศัยที่อันขรุขระ ๑ ได้อาศัยป่าชัฏ ๑ ได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจ ๑.

มหาโจรอาศัยที่อันขรุขระอย่างไร มหาโจรอาศัยแม่น้ำเขินหรือหุบเขา อย่างนี้ มหาโจรชื่อว่าอาศัยที่อันขรุขระ

มหาโจรอาศัยที่ป่าชัฏอย่างไร มหาโจรอาศัยพงหญ้า หรือดงไม้ หรือตลิ่ง หรือราวป่าใหญ่ อย่างนี้ มหาโจรชื่อว่าอาศัยที่ป่าชัฏ

มหาโจรได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจอย่างไร มหาโจรได้พึ่งพิงท้าวพญา หรือราชมหาอำมาตย์ มันมั่นใจอย่างนี้ว่า ถ้าใครๆ จักว่าอะไรๆ มัน ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์ก็จักช่วยกลบเกลื่อนคดีให้มัน ถ้าใครๆ ว่าอะไรๆ มัน ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้นก็ช่วยกลบเกลื่อนคดีให้มัน อย่างนี้ มหาโจรชื่อว่าได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรได้องค์ ๓ นี้แล ย่อมตัดช่องย่องเบา ปล้นสะดม และตีชิง

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๓ ชื่อว่าครองตนอันถูกก่น (ขุดรากคือความดี) ถูกประหาร (ตายจากคุณธรรม) แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ธรรม ๓ คืออะไร คือ ภิกษุชั่วอาศัยที่อันขรุขระ ๑ อาศัยที่ป่าชัฏ ๑ พึ่งพิงผู้มีอำนาจ ๑.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 211

ภิกษุชั่วอาศัยที่อันขรุขระเป็นอย่างไร ภิกษุชั่วประกอบด้วยกายกรรม ... วจีกรรม ... มโนกรรม อันไม่สมควร อย่างนี้แล ภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยที่อันขรุขระ

ภิกษุชั่วอาศัยที่ป่าชัฏเป็นอย่างไร ภิกษุชั่วเป็นผู้มีความเห็นผิดประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นอันแล่นเข้าถึงที่สุด) อย่างนี้แล ภิกษุชั่วชื่อว่าอาศัยที่ป่าชัฏ

ภิกษุชั่วพึ่งพิงผู้มีอำนาจอย่างไร ภิกษุชั่วได้พึ่งพิงท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์ ภิกษุชั่วนั้นมั่นใจอย่างนี้ว่า ถ้าใครๆ จักว่าอะไรๆ เรา ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านี้ ก็จักช่วยกลบเกลื่อนความให้เรา ถ้าใครๆ ว่าอะไรๆ ภิกษุชั่วนั้น ท้าวพญาหรือราชมหาอำมาตย์เหล่านั้น ก็ช่วยกลบเกลื่อนความให้ภิกษุชั่วนั้น อย่างนี้แล ภิกษุชั่วชื่อว่าพึ่งพิงผู้มีอำนาจ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ชื่อว่า ครองตนอันถูกก่น (รากคือความดี) ถูกประหาร (ตายจากคุณธรรม) แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย.

จบมหาโจรสูตรที่ ๑๑

จบจุฬวรรคที่ ๕

อรรถกถามหาโจรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมหาโจรสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้:-

โจรที่มีกำลัง มีพวกมาก ชื่อว่า มหาโจร. บทว่า สนฺธึ ได้แก่ ที่ต่อแห่งเรือน. บทว่า นิลฺโลปํ ได้แก่ ปล้นแบบมหาวินาศ. บทว่า เอกาคาริกํ ได้แก่ ปิดล้อมปล้นเรือนหลังเดียวเท่านั้น. บทว่า ปริปนฺเถปิ ติฏฺติ ได้แก่ดักจี้ตามทาง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 212

บทว่า นทีวิทุคฺคํ ได้แก่ สถานที่ที่แม่น้ำไหลไปไม่สะดวก คือ เกาะแก่งที่พวกโจรสามารถจะซุ่มซ่อนอยู่ได้พร้อมด้วยบริวาร ๒,๐๐๐ บ้าง ๓,๐๐๐ บ้าง. บทว่า ปพฺพตวิสมํ ได้แก่ ที่ที่ภูเขาไม่เสมอกัน คือ ช่องเขาที่พวกโจรสามารถจะซุ่มซ่อนอยู่ได้ พร้อมกับบริวารเจ็ดพันหรือแปดพันคน.

บทว่า ติณคหนํ ได้แก่ สถานที่ประมาณ ๑ โยชน์ ซึ่งหญ้าขึ้นคลุมไว้. บทว่า เคหํ แปลว่า เรือน. ไพรสณฑ์ที่กิ่งไม้ประสานกันติดเนื่องกันไป ชื่อว่าไพรสณฑ์ใหญ่.

บทว่า ปริโยธาย อตฺถํ ภณิสฺสนฺติ ความว่า (พระราชาหรือมหาอำมาตย์) จักกล่าวข้อความบิดเบือน คือ เพิ่มเหตุนั้นๆ เข้าไป. บทว่า ตฺยาสฺส ตัดบทเป็น เต อสฺส. บทว่า ปริโยธาย อตฺถํ ภณนฺติ ความว่า เมื่อใครๆ เริ่มกล่าวตำหนิ (เขา) (พระราชาหรือมหาอำมาตย์) จะบิดเบือนเหตุการณ์นั้นๆ หลีกเลี่ยงแม้โทษหนัก กล่าวข้อความนี้ว่า พวกท่านทั้งหลายอย่าพูดอย่างนี้ พวกเรารู้จักคนผู้นี้มาหลายชั่วตระกูล คนผู้นี้จักไม่ทำอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า บทว่า ปริโยธาย แปลว่า ปกปิด. เพราะพระราชา หรือมหาอำมาตย์เหล่านั้น กล่าวถ้อยคำปกปิดโทษให้เขา.

บทว่า ขตํ อุปหตํ ความว่า ชื่อว่าถูกเขาก่น เพราะถูกขุดคุณงามความดีทิ้งไป ชื่อว่าถูกประหาร เพราะเข้าไปทำลายคุณความดีเสีย บทว่า วิสเมน กายกมฺเมน ความว่า ด้วยกรรมที่ทำทางกายทวาร ที่ชื่อว่าไม่เหมาะสม เพราะหมายความว่าพลาดพลั้ง. แม้ในวจีกรรม และมโนกรรม ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อนฺตคาหิกาย ความว่า ด้วยทิฏฐิที่ยึดเอาที่สุด มีวัตถุ ๑๐. ข้อความที่เหลือในบททั้งปวง มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถามหาโจรสูตรที่ ๑๑

จบจูฬวรรควรรณนาที่ ๕

จบปฐมปัณณาสก์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 213

รวมพระสูตรที่มีในจูฬวรรคนี้ คือ

๑. สัมมุขีสูตร ๒. ฐานสูตร ๓. ปัจจยวัตตสูตร ๔. ปเรสสูตร ๕. บัณฑิตสูตร ๖. ศีลสูตร ๗. สังขตสูตร ๘. อสังขตสูตร ๙. ปัพพตสูตร ๑๐. อาตัปปสูตร ๑๑. มหาโจรสูตร และอรรถกถา.