พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สมาทปกสูตร ว่าด้วยฐานะ ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38702
อ่าน  446

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 420

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๕. สมาทปกสูตร

ว่าด้วยฐานะ ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 420

๕. สมาทปกสูตร

ว่าด้วยฐานะ ๓ อย่าง

[๕๑๕] ครั้งนั้น ท่านอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านอานนท์ว่า อานนท์ ท่านทั้งหลายจะพึงเอ็นดูบุคคลใด และบุคคลเหล่าใดจะพึงเชื่อฟัง เป็นมิตร อมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม บุคคลเหล่านั้น ท่านทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่นอยู่ในสถาน ๓ เถิด ในสถาน ๓ คืออะไร คือ ในความเลื่อมใสอันหยั่งลงด้วยรู้พระคุณในพระพุทธเจ้าว่า อิติปิ โส ภควา ฯลฯ ภควา ในความเลื่อมใสอันหยั่งลงด้วยรู้พระคุณในพระธรรมว่า สฺวากฺขาโต ... ฯลฯ วิญฺญูหิ ในความเลื่อมใสอันหยั่งลงด้วยรู้พระคุณในพระสงฆ์ว่า สุปฏิปนฺโน ฯลฯ โลกสฺส.

อานนท์ ความแปรแห่งมหาภูต ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พึงมีได้ แต่ความแปรแห่งอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงด้วยรู้พระคุณในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่พึงมีเลย นี้ความแปรในข้อนั้น คือ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงด้วยรู้พระคุณในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้นน่ะ จักไปนรก หรือกำเนิดดิรัจฉาน หรือเปตติวิสัย ดังนี้ นี่มิใช่ฐานะจะมีได้เลย

อานนท์ ท่านทั้งหลายจะพึงเอ็นดูบุคคลใด และบุคคลเหล่าใดจะพึงเชื่อฟัง เป็นมิตร อมาตย์ ญาติ หรือสายโลหิตก็ตาม บุคคลเหล่านั้น ท่านทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่นอยู่ในสถาน ๓ นี้เถิด.

จบสมาทปกสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 421

อรรถกถาสมาทปกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมาทปกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อมจฺจา ได้แก่ อำมาตย์ผู้มีใจดี. บทว่า าติ ได้แก่ ญาติฝ่ายปู่ ย่า ตา ยาย. บทว่า สาโลหิตา ได้แก่ ญาติผู้ร่วมสายโลหิต มีพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เป็นต้น. บทว่า อเวจฺจปฺปสาเท ความว่า มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ที่เกิดขึ้นโดยหยั่งรู้ถึงคุณทั้งหลาย.

บทว่า อญฺถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นจากความเป็นจริง. พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า ปฐวีธาตุยา เป็นต้นดังต่อไปนี้ ปฐวีธาตุที่เป็นธาตุมีอาการเข้มแข็ง ในโกฏฐาส ๒๐ อย่าง (พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้) อาโปธาตุที่เป็นน้ำ เป็นธาตุเกาะกุม ในโกฏฐาส ๑๒ อย่าง (พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้) เตโชธาตุที่เป็นธาตุแผดเผา ในโกฏฐาส ๔ อย่าง (พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้) วาโยธาตุที่เป็นธาตุพัดผัน ในโกฏฐาส ๖ อย่าง (พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้).

ด้วยบทว่า สิยา อญฺถตฺตํ น เตฺวว พระอานนท์เถระเจ้าแสดงว่า จริงอยู่ มหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะเข้าถึงความเป็นอัญญมัญญปัจจัย แต่สำหรับพระอริยสาวก ไม่มีความเป็นอย่างอื่นไปได้เลย.

ก็ในพระสูตรนี้ บทว่า อญฺถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นโดยความเลื่อมใส และความเป็นอย่างอื่นโดยคติ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนั้นไม่มีแก่พระอริยสาวก มีแต่ความเป็นอย่างอื่นโดยสภาพ อธิบายว่า พระอริยสาวกที่เป็นมนุษย์ ไปเป็นเทวดาก็มี ไปเป็นพรหมก็มี แต่ความเลื่อมใสของพระ-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 422

อริยสาวกนั้นจะไม่ขาดตอน (เปลี่ยนแปลง) ในระหว่างภพ ทั้งจะไม่ถึงความเป็นอย่างอื่นโดยคติ กล่าวคือ อบายคติ แม้พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงแสดงความข้อนั้นแหละ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตตฺธิทํ อญฺถตฺตํ ดังนี้. คำที่เหลือในพระสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสมาทปกสูตรที่ ๕