พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. คันธสูตร ว่าด้วยกลิ่นหอม ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38706
อ่าน  472

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 428

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๙. คันธสูตร

ว่าด้วยกลิ่นหอม ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 428

๙. คันธสูตร

ว่าด้วยกลิ่นหอม ๓ อย่าง

[๕๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คันธชาต ๓ นี้ กลิ่นไปได้แต่ตามลม หาทวนลมได้ไม่ คันธชาต ๓ คืออะไร คือ (มูลคันธะ) รากไม้หอม (สารคันธะ) แก่นไม้หอม (ปุปผคันธะ) ดอกไม้หอม นี้แล พระพุทธเจ้าข้า คันธชาต ๓ ซึ่งกลิ่นไปได้แต่ตามลม หาทวนลมได้ไม่ มีหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า คันธชาตอะไรๆ ที่กลิ่นไปตามลมก็ได้ ทวนลมก็ได้ ทั้งตามลม ทั้งทวนลมก็ได้.

พ. มี อานนท์ ...

อา. มีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ...

พ. อานนท์ สตรีหรือบุรุษก็ตาม ในหมู่บ้านหรือตำบลใด เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสุราเมรัย เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาค ปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน สมณพราหมณ์ในทิศทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาว่า หญิงหรือชาย ในหมู่บ้านหรือตำบลโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า ฯลฯ พอใจในการให้และการแบ่งปัน แม้เทวดาก็สรรเสริญว่า หญิงหรือชาย ในหมู่บ้านหรือตำบลโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า ฯลฯ พอใจในการให้และการแบ่งปัน นี้แล อานนท์ คันธชาต ซึ่งมีกลิ่นไปตามลมก็ได้ ทวนลมก็ได้ ทั้งตามลมทั้งทวนลมก็ได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 429

กลิ่นดอกไม้หาไปทวนลมได้ไม่ กลิ่นจันทน์ กฤษณา และกระลำพัก ก็ไปทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นสัตบุรุษ ไปทวนลมได้ สัตบุรุษย่อมขจรไปทุกทิศ.

จบคันธสูตรที่ ๙

อรรถกถาคันธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในคันธสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เอตทโวจ ความว่า ในเวลาหลังภัตตาหาร พระอานนท์เถรเจ้ากลับจากบิณฑบาต แสดงวัตรต่อพระทศพลแล้ว ไปยังที่พักกลางวันของตน แล้วคิดว่า ในโลกนี้ต้นไม้ที่มีรากหอมมีอยู่ ต้นไม้ที่มีแก่นหอมมีอยู่ ต้นไม้ที่มีดอกหอมมีอยู่ แต่กลิ่นทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมฟุ้งไปตามลมเท่านั้น ไม่ฟุ้งไปทวนลม มีกลิ่นอะไรที่ฟุ้งไปทวนลมได้บ้างหรือหนอ ดังนี้แล้ว เพราะเหตุที่ท่านรับพร คือ การเข้าไปเฝ้าในเวลาที่เกิดความสงสัย (๑) ในกาลเป็นที่รับพร ๘ ประการนั่นเอง ทันใดนั้น จึงออกจากที่พักกลางวันไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง เพื่อจะบรรเทาความสงสัยที่เกิดขึ้น จึงได้กราบทูลคำนี้ คือ คำมีอาทิว่า ตีณิมานิ ภนฺเต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺธชาตานิ ได้แก่ ของหอมโดยกำเนิดทั้งหลาย. บทว่า มูลคนฺโธ ได้แก่ กลิ่นที่ตั้งอยู่ในราก. หรือรากที่สมบูรณ์ด้วยกลิ่นนั่นเอง ชื่อว่า มูลคนฺโธ เพราะว่ากลิ่นของรากนั้น ย่อมฟุ้งไปตามลม. แต่กลิ่นของกลิ่น (นั้น) ไม่มี. แม้ในกลิ่นที่แก่น และกลิ่นที่ราก ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.


(๑) ปาฐะว่า อุปสงฺกมนสฺส คหิตตฺตา ฉบับพม่าเป็น อุปสงฺกมนวรสฺส คหิตตฺตา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 430

พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อตฺถานนฺท คนฺธชาตํ นี้ ดังต่อไปนี้ การถึงสรณะเป็นต้น ชื่อว่าเป็นกลิ่น เพราะคล้ายกับกลิ่น โดยฟุ้งขจรไปทุกทิศ ด้วยสามารถแห่งการกล่าวสรรเสริญคุณความดี กลิ่นเหล่านั้นมีบุคคลเป็นที่ตั้ง จึงชื่อว่าคันธชาต. บทว่า คนฺโธ คจฺฉติ ความว่า ฟุ้งไปด้วยสามารถแห่งการกล่าวสรรเสริญ. บทว่า สีลวา ได้แก่ มีศีล โดยเป็นศีล ๕ หรือศีล ๑๐. บทว่า กลฺยาณธมฺโม ความว่า มีกัลยาณธรรม คือ มีธรรมอันดีงาม โดยศีลธรรมนั่นเอง. อธิบายของคำมีอาทิว่า วิคตมลมจฺเฉเรน เป็นต้น ได้ให้พิสดารไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล. บทว่า ทิสาสุ ได้แก่ ในทิศใหญ่ ๔ ในทิศน้อย ๔. บทว่า สมณพฺราหฺมณา ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้สงบบาป และลอยบาปแล้ว.

บทว่า น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ ความว่า กลิ่นของดอกมะลิเป็นต้น จะไม่ฟุ้งขจรไปทวนลม. บทว่า น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา มีอรรถาธิบายว่า ถึงกลิ่นของจันทน์ กฤษณา และกระลำพัก ก็ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้. จริงอยู่ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า แม้ในเทวโลก ก็ยังมีดอกมะลิที่บานแล้วเหมือนกัน ในวันที่ดอกมะลินั้นบานแล้ว กลิ่นก็จะฟุ้งไปได้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ แต่กลิ่นนั้นก็ไม่สามารถจะฟุ้งไปทวนลมได้แม้เพียงคืบเดียว หรือเพียงศอกเดียว. บทว่า สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ ความว่า ส่วนกลิ่น คือ คุณ มีศีลเป็นต้นของสัตบุรุษทั้งหลายคือบัณฑิตทั้งหลาย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกทั้งหลาย ย่อมฟุ้งไปทวนลมได้. บทว่า สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ ความว่า สัตบุรุษคือบัณฑิต ย่อมฟุ้งไปทั่วทุกทิศด้วยกลิ่นคือคุณความดี มีศีลเป็นต้น. อธิบายว่า มีกลิ่นตระหลบไปทั่วทุกทิศ.

จบอรรถกถาคันธสูตรที่ ๙