พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สมณสูตร ว่าด้วยกิจของสมณะ ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38708
อ่าน  391

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 446

ทุติยปัณณาสก์

สมณวรรคที่ ๔

๑. สมณสูตร

ว่าด้วยกิจของสมณะ ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 446

สมณวรรคที่ ๔

๑. สมณสูตร

ว่าด้วยกิจของสมณะ ๓ อย่าง

[๕๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณกรณียะ (กิจที่สมณะต้องทำ) ของสมณะ ๓ นี้ สมณกรณียะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ การสมาทานอธิสีลสิกขา การสมาทานอธิจิตตสิกขา การสมาทานอธิปัญญาสิกขา นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สมณกรณียะของสมณะ ๓

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะของเราต้องแรงกล้าในการสมาทานอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบสมณสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 447

สมณวรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาสมณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมณสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมณสฺส แปลว่า อันเป็นของสมณะ. บทว่า สมณกรณียานิ แปลว่า กิจอันสมณะพึงทำ. ในบทว่า อธิสีลสิกฺขาสมาทานํ เป็นต้น มีอธิบายว่า การถือ เรียกว่า สมาทาน การสมาทาน การถือ การบำเพ็ญอธิสีลสิกขา ชื่อว่า อธิสีลสิกขาสมาทาน. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

อธิศีล - อธิจิต - อธิปัญญา

อนึ่ง ในที่นี้ พึงทราบการจำแนกดังนี้ว่า ศีล อธิศีล จิต อธิจิต ปัญญา อธิปัญญา ในการจำแนกนั้น ศีล ๕ ชื่อว่าศีล ศีล ๑๐ ชื่อว่าอธิศีล เพราะเทียบเคียงกับศีล ๕ นั้น ปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่าอธิศีล เพราะเทียบเคียงกับศีล ๑๐ นั้น อนึ่ง โลกิยศีลทั้งหมด จัดเป็นศีล โลกุตรศีล จัดเป็นอธิศีล อธิศีลนั้นแหละเรียกว่า สิกขา เพราะต้องศึกษา. ส่วน กามาวจรจิต ชื่อว่าจิต รูปาวจรจิต ชื่อว่าอธิจิต เพราะเทียบเคียงกับกามาวจรจิตนั้น อรูปาวจรจิต ชื่อว่าอธิจิต เพราะเทียบเคียงกับรูปาวจรจิตนั้น. อนึ่ง โลกิยจิตทั้งหมดจัดเป็นจิต โลกุตตรจิตจัดเป็นอธิจิต. แม้ในปัญญาก็มีนัยเดียวกันนี้แล. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่กิจอันสมณะพึงทำทั้ง ๓ เหล่านี้. บทว่า ติพฺโพ ได้แก่ หนา. บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจในกุศล คือ ความเป็นผู้ต้องการจะทำ.

สิกขา ๓ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสูตรนี้ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสมณสูตรที่ ๑