พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ปังกธาสูตร ว่าด้วยผู้สรรเสริญและไม่สรรเสริญ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38723
อ่าน  538

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 469

ทุติยปัณณาสก์

สมณวรรคที่ ๔

๑๑. ปังกธาสูตร

ว่าด้วยผู้สรรเสริญและไม่สรรเสริญ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 469

๑๑. ปังกธาสูตร

ว่าด้วยผู้สรรเสริญและไม่สรรเสริญ

[๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในประเทศโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ถึงตำบลปังกธา ประทับพักที่นั่น คราวนั้น ภิกษุกัสสปโคตร เป็นเจ้าอาวาสในตำบลนั้น ที่นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาประกอบด้วยสิกขาบท เมื่อพระองค์ทรงสอนภิกษุให้เห็นแจ้ง ... อยู่ ภิกษุกัสสปโคตรเกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับสำราญพระอิริยาบถ ณ ตำบลปังกธา ตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงกรุงราชคฤห์ ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ

ฝ่ายภิกษุกัสสปโคตร เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วไม่นาน เกิดร้อนรำคาญใจได้คิดขึ้นว่า เราเสียๆ แล้ว เราได้ชั่วแล้ว ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาประกอบด้วยสิกขาบท เราเกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก อย่ากระนั้นเลย เราไปเฝ้าสารภาพโทษเถิด ครั้นตกลงใจแล้ว จึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรไปกรุงราชคฤห์ ถึงภูเขาคิชฌกูฏ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับพัก ณ ตำบลปังกธา ประเทศโกศล ที่นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญร่าเริง ด้วยธรรมีกถาประกอบด้วยสิกขาบท เมื่อทรงสอนภิกษุ ... อยู่ ข้าพระพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 470

เกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก คราวนั้น พระองค์ประทับสำราญพระอิริยาบถ ณ ตำบลปังกธาตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกมากรุงราชคฤห์ พอเสด็จแล้วไม่นาน ข้าพระพุทธเจ้าก็รู้สึกร้อนรำคาญใจได้คิดว่า เราเสียๆ แล้ว เราได้ชั่วแล้ว ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญร่าเริง ด้วยธรรมีกถาประกอบด้วยสิกขาบทอยู่ เราเกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก อย่ากระนั้นเลย เราไปเฝ้าสารภาพโทษเถิด ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิด (ฐานนึกล่วงเกิน) ได้เกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้าแล้ว โดยที่เขลา โดยที่หลง โดยที่ไม่ฉลาด ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน ... อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโทษโดยความเป็นโทษ เพื่อข้าพระพุทธเจ้าจะสังวรต่อไปเถิด.

พ. ตรัสว่า จริงละ กัสสปะ ความผิดได้เกิดแก่ท่านแล้ว โดยที่เขลา โดยที่หลง โดยที่ไม่ฉลาด ซึ่งเมื่อเราสอน ... อยู่ ท่านได้เกิดความไม่พอใจขึ้นว่า สมณะนี้เคร่งเกินไป เมื่อท่านเห็นความผิดแล้วทำคืนตามวิธีที่ชอบ เรารับโทษโดยความเป็นโทษ อันการที่เห็นความผิดแล้วทำคืนตามวิธีที่ชอบ ถึงความสังวรต่อไป นั่นเป็นความเจริญในวินัยของพระอริย.

แน่ะกัสสปะ ถ้าภิกษุเถระก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุนวกะก็ดี เป็นผู้ไม่ใคร่ศึกษา ไม่กล่าวคุณแห่งการบำเพ็ญสิกขา ไม่ชักชวนภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ศึกษาให้ศึกษา ไม่ยกย่องภิกษุอื่นๆ ที่ใคร่ศึกษา โดยที่จริงที่แท้ตามเวลาอันควร กัสสปะ เราไม่สรรเสริญภิกษุเถระ ภิกษุมัชฌิมะ และภิกษุนวกะรูปนี้เลย เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่า (ถ้าเราสรรเสริญ) ภิกษุอื่นๆ รู้ว่าพระศาสดาสรรเสริญภิกษุรูปนั้น ก็จะพากันคบภิกษุรูปนั้น ภิกษุเหล่าใดคบภิกษุรูปนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็จะถึงทิฏฐานุคติ (ได้เยี่ยงอย่าง) ของภิกษุรูปนั้น ซึ่งจะเป็นทางเกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เกิดทุกข์แก่ภิกษุผู้คบ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 471

ตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สรรเสริญภิกษุรูปนั้น จะเป็นเถระ มัชฌิมะ นวกะก็ตาม

แต่ถ้าภิกษุเถระก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุนวกะก็ดี เป็นผู้ใคร่ศึกษา กล่าวคุณแห่งการบำเพ็ญสิกขา ชักชวนภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ศึกษาให้ศึกษา ยกย่องภิกษุอื่นๆ ที่ใคร่ศึกษา โดยที่จริงที่แท้ตามเวลาอันควร เราสรรเสริญภิกษุเถระ ภิกษุมัชฌิมะ และภิกษุนวกะเช่นนี้ เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่าภิกษุอื่นๆ รู้ว่าพระศาสดาสรรเสริญเธอ ก็จะพึงคบเธอ ภิกษุเหล่าใดคบเธอ ภิกษุเหล่านั้นก็จะพึงได้เยี่ยงอย่างของเธอ ซึ่งจะพึงเป็นทางเกิดประโยชน์ เกิดสุขแก่ภิกษุผู้คบตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึงสรรเสริญภิกษุเช่นนั้น จะเป็นเถระ มัชฌิมะ นวกะก็ตาม.

จบปังกธาสูตรที่ ๑๑

จบสมณวรรคที่ ๔

อรรถกถาปังกธาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปังกธาสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปํกธา นาม โกสลานํ นิคโม ความว่า นิคมในโกสลรัฐที่มีชื่ออย่างนี้ว่า ปังกธา. บทว่า อาวาสิโก ความว่า ภิกษุเจ้าอาวาสร้างอาวาสหลังใหม่ๆ ขึ้น บำรุงรักษาอาวาสหลังเก่าๆ. บทว่า สิกฺขาปทปฏิสํยุตฺตาย ได้แก่ ปฏิสังยุตด้วยบทกล่าวคือสิกขา อธิบายว่า ประกอบด้วยสิกขา ๓. บทว่า สนฺทสฺเสติ ได้แก่ ทรงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นเหมือนอยู่พร้อมหน้า. บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ให้ภิกษุทั้งหลายถือเอา. บทว่า สมุตฺเต

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 472

เชติ คือ ให้ภิกษุทั้งหลายอาจหาญ. บทว่า สมฺปหํเสติ คือ ตรัสสรรเสริญ ทำภิกษุทั้งหลายให้ผ่องใสด้วยคุณที่ตนได้แล้ว. บทว่า อธิสลฺเลขติ ได้แก่ สมณะนี้ย่อมขัดเกลาเหลือเกิน อธิบายว่า สมณะนี้ย่อมกล่าวธรรมที่ละเอียดๆ ทำให้ละเมียดละไมเหลือเกิน.

บทว่า อจฺจโย คือ ความผิด. บทว่า มํ อจฺจคฺคมา คือ ล่วงเกินเรา ได้แก่ ข่มเรา เป็นไป. บทว่า อหุเทว อกฺขนฺติ ความว่า ความไม่อดกลั้นได้มีแล้วทีเดียว. บทว่า อหุ อปฺปจฺจโย ความว่า อาการไม่ยินดีได้มีแล้ว. บทว่า ปฏิคฺคณฺหาตุ ความว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงอดโทษ. บทว่า อายตึ สํวราย คือ เพื่อประโยชน์แก่ความสำรวมในอนาคต อธิบายว่า เพื่อต้องการจะไม่ทำความผิด คือ โทษ ได้แก่ ความพลั้งพลาด เห็นปานนี้อีก. บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาตโดยส่วนเดียว.

บทว่า ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ คือ ธรรมดำรงอยู่โดยประการใด เธอก็ทำโดยประการนั้น มีคำอธิบายว่า ให้อดโทษ. บทว่า ตํ เต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม ความว่า เราทั้งหลายยอมยกโทษนั้นให้เธอ. บทว่า วุฑฺฒิ เหสา กสฺสป อริยสฺส วินเย ความว่า ดูก่อนกัสสปะ นี้ชื่อว่าเป็นความเจริญในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า. ถามว่า ความเจริญเป็นไฉน? ตอบว่า การเห็นโทษว่าเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงทำเทศนาให้เป็นปุคคลาธิษฐาน จึงตรัสว่า โย อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรติ อายตึ สํวรํ อาปชฺชติ แปลว่า ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษ กระทำคืนตามธรรมเนียม ย่อมถึงความสำรวมต่อไป ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 473

บทว่า น สิกฺขากาโม ความว่า ภิกษุไม่ต้องการ คือ ไม่ปรารถนา ได้แก่ ไม่กระหยิ่มใจต่อสิกขา ๓. บทว่า สิกฺขาสมาทานสฺส คือ แห่งการบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์. บทว่า น วณฺณวาที คือ ไม่กล่าวคุณ. บทว่า กาเลน คือ โดยกาลอันเหมาะสม. บทที่เหลือในสูตรนี้มีความหมายง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาปังกธาสูตรที่ ๑๐

จบสมณวรรควรรณนาที่ ๔

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สมณสูตร ๒. คัทรภสูตร ๓. เขตตสูตร ๔. วัชชีปุตตสูตร ๕. ปฐมเสขสูตร ๖. ทุติยเสขสูตร ๗. ตติยเสขสูตร ๘. จตุตถเสขสูตร ๙. ปฐมสิกขาสูตร ๑๐. ทุติยสิกขาสูตร ๑๑. ปังกธาสูตร และอรรถกถา