พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อัจจายิกสูตร ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38724
อ่าน  552

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 474

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๑. อัจจายิกสูตร

ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 474

โลณผลวรรคที่ ๕

๑.อัจจายิกสูตร

ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ

[๕๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะ (กิจที่ต้องรีบทำ) ของคฤหบดีชาวนา ๓ นี้ อัจจายิกกรณียะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ คฤหบดีชาวนารีบๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดี ครั้นแล้วรีบๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วรีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง นี้แล อัจจายิกกรณียะ ของคฤหบดีชาวนา ๓ แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้ข้าวงอกในวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้ ที่ถูก ย่อมมีสมัยที่ข้าวนั้นเปลี่ยนสภาพไปตามฤดู ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ นี้ คืออะไรบ้าง คือ การบำเพ็ญอธิสีลสิกขา การบำเพ็ญอธิจิตตสิกขา การบำเพ็ญอธิปัญญาสิกขา นี้แล อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ แต่ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้จิตของตนเลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้ ที่ถูก ย่อมมีสมัยที่เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลไป ศึกษาอธิจิตไป ศึกษาอธิปัญญาไป จิตย่อมจะเลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะได้

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะของเราในการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ต้องกล้าแข็ง ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบอัจจายิกสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 475

โลณผลวรรควรรณนาที่ ๕

อรรถกถาอัจจายิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอัจจายิกสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อจฺจายิกานิ แปลว่า รีบด่วน. บทว่า กรณียานิ แปลว่า กิจที่ต้องทำอย่างแน่แท้ ก็ธุระใดไม่ต้องทำเป็นการแน่แท้ ธุระนั้นเรียกว่า กิจ (งานอดิเรก) ธุระที่ต้องทำเป็นการแน่แท้ ชื่อว่า กรณียะ (งานประจำ). บทว่า สีฆสีฆํ แปลว่า โดยเร็วๆ. บทว่า ตํ ในคำว่า ตสฺส โข ตํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า นตฺถิ สา อิทฺธิ วา อานุภาโว วา ความว่า ฤทธิ์นั้นหรืออานุภาพนั้นไม่มี.

บทว่า อุตฺตรเสฺว ได้แก่ ในวันที่ ๓ (วันมะรืน). บทว่า อุตุปริณามีนิ ได้แก่ ธัญชาติทั้งหลายได้ความเปลี่ยนแปลงฤดู. บทว่า ชายนฺติปิ ได้แก่ มีหน่อสีขาวงอกออกในวันที่ ๓ เมื่อครบ ๗ วัน หน่อก็กลับเป็นสีเขียว. บทว่า คพฺภินีปิ โหนฺติ ความว่า ถึงเวลาเดือนครึ่งก็ตั้งท้อง. บทว่า ปจนฺติปิ ความว่า ถึงเวลา ๓ เดือนก็สุก.

บัดนี้ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยคฤหบดี หรือด้วยข้าวกล้า แต่ที่ทรงนำอุปมานั้นๆ มา ก็เพื่อจะทรงแสดงบุคคลหรืออรรถที่เหมาะสมกับเทศนานั้นในศาสนา ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์จะแสดง (ซึ่งเป็นเหตุให้) นำอุปมานั้นมา จึงตรัสคำว่า เอวเมว โข เป็นต้น. สูตรนั้น เมื่อว่าโดยอรรถ ง่ายทั้งนั้นแล. ก็ สิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้คละกัน แม้ในสูตรนี้.

จบอรรถกถาอัจจายิกสูตรที่ ๑