พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. วิวิตตสูตร ว่าด้วยความสงัดจากกิเลส ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38725
อ่าน  428

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 476

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๒. วิวิตตสูตร

ว่าด้วยความสงัดจากกิเลส ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 พ.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 476

๒. วิวิตตสูตร

ว่าด้วยความสงัดจากกิเลส ๓ อย่าง

[๕๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกทั้งหลายผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมบัญญัติปวิเวก (ความสงบสงัด) ๓ นี้ ปวิเวก ๓ คืออะไร คือ จีวรปวิเวก (ความสงบสงัดเนื่องด้วยผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาตปวิเวก (ความสงบสงัดเนื่องด้วยอาหาร) เสนาสนปวิเวก (ความสงบสงัดเนื่องด้วยที่อยู่อาศัย)

บรรดาปวิเวก ๓ นั้น ในจีวรปวิเวก พวกปริพาชกบัญญัติผ้าดังนี้ คือ เขาใช้ (สาณ) ผ้าทำด้วยเปลือกป่านบ้าง (มสาณ) ผ้าทำด้วยเปลือกป่านแกมด้ายบ้าง (ฉวทุสฺส) ผ้าห่อศพบ้าง (ปํสุกูล) ผ้าที่เขาทิ้งแล้วบ้าง (ติรีฏก) เปลือกไม้บ้าง (อชิน) หนังสัตว์บ้าง (อชินกฺขิปา) หนังสัตว์มีเล็บติดบ้าง (กุสจีร) คากรองบ้าง (วากจีร) เปลือกไม้กรองบ้าง (ผลกจีร) ผลไม้กรองบ้าง (เกสกมฺพล) ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง (วาลกมฺพล) ผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์บ้าง (อุลูกปกฺข) ปีกนกเค้าบ้าง

ในบิณฑบาตปวิเวก เขาบัญญัติอาหารดังนี้ คือ (สากภกฺขา) กินผักบ้าง (สามากภกฺขา) กินข้าวฟ่างบ้าง (นิวารภกฺขา) กินลูกเดือยบ้าง (ททฺทุลภกฺขา) กินกากหนัง (ที่ช่างหนังขูดทิ้ง) บ้าง (หฏภกฺขา) กินยางไม้บ้าง (กณภกฺขา) กินรำข้าวบ้าง (อาจามภกฺขา) กินข้าวตังบ้าง (ปิญฺากภกฺขา) กินงาป่นบ้าง (ติณภกฺขา) กินหญ้าบ้าง (โคมยภกฺขา) กินมูลโคบ้าง (วนมูลผลาหาร) กินเง่าและผลไม้ป่าบ้าง (ปวตฺตผลโภชี) กินผลไม้ที่มีอยู่ (ในพื้นเมือง) บ้าง ยังชีพให้เป็นไป

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 พ.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 477

ในเสนาสนปวิเวก เขาบัญญัติที่อยู่ดังนี้ คือ (อรญฺ) ป่า (รุกฺขมูล) โคนไม้ (สุสาน) ป่าช้า (วนปตฺถ) ป่าสูง (อพฺโภกาส) กลางแจ้ง (ปลาลปุญฺช) กองฟาง (ภุสาคาร) โรงแกลบ

ภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น บัญญัติปวิเวก ๓ นี้แล

ส่วนปวิเวก ๓ ต่อไปนี้ เป็นปวิเวกของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปวิเวกของภิกษุ ๓ คืออะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ละความทุศีล และสงบสงัดจากความทุศีลนั้น ๑ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด และสงบสงัดจากความเห็นผิดนั้น ๑ เป็นขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และสงบสงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้น ๑ เมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ และสงบสงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ถึงยอด ถึงแก่น บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนาข้าวสาลีของคฤหบดีชาวนามีผลได้ที่แล้ว คฤหบดีชาวนาก็รีบๆ เกี่ยวข้าวนั้น ครั้นแล้วก็รีบๆ เก็บขนมาขึ้นลาน ตั้งนวด สงฟาง ปัดข้าวลีบ สาดแล้ว สี ซ้อม ฝัด เมื่อเช่นนี้ ข้าวเปลือกของคฤหบดีชาวนานั้นก็เป็นถึงที่สุด ถึงแก่น สะอาด เป็นข้าวสาร ฉันใดก็ดี ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ และสงบสงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ถึงยอด ถึงแก่น บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบวิวิตตสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 พ.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 478

อรรถกถาวิวิตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิวิตตสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า จีวรปวิเวกํ ได้แก่ ความสงัดจากกิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจีวร. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้แล. บทว่า สาณานิ ได้แก่ ผ้าที่ทอด้วยป่าน. บทว่า มสาณานิ ได้แก่ ผ้ามีเนื้อปนกัน. บทว่า ฉวทุสฺสานิ ได้แก่ ผ้าที่ทิ้งจากร่างของคนตาย. หรือผ้านุ่งที่ทำโดยกรองหญ้าเอรกะเป็นต้น. บทว่า ปํสุกูลานิ ได้แก่ ผ้าไม่มีชายที่ทิ้งไว้บนแผ่นดิน. บทว่า ติรีฏกานิ ได้แก่ ผ้าเปลือกไม้. บทว่า อชินจมฺมานิ ได้แก่ หนังเสือเหลือง. บทว่า อชินกฺขิปํ ได้แก่ หนังเสือเหลืองนั้นแลที่ผ่ากลาง อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สหขุรกํ หนังเสือที่มีเล็บติด ดังนี้บ้าง. บทว่า กุสจีรํ ได้แก่ จีวรที่ถักหญ้าคาทำ. แม้ในผ้าคากรองและผ้าเปลือกไม้ ก็มีนัยนี้แล. บทว่า เกสกมฺพลํ ได้แก่ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์. บทว่า วาลกมฺพลํ ได้แก่ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยหางม้าเป็นต้น. บทว่า อุลูกปกฺขิกํ ได้แก่ ผ้านุ่งที่ทำโดยปีกนกฮูก.

บทว่า สากภกฺขา ได้แก่ มีผักสดเป็นภักษา. บทว่า สามากภกฺขา ได้แก่ มีข้าวฟ่างเป็นภักษา. ในบทว่า นิวาระ เป็นต้น วีหิชาติที่งอกขึ้นเองในป่า ชื่อว่านิวาระ (ลูกเดือย). บทว่า ททฺทุลํ ได้แก่ เศษเนื้อที่พวกช่างหนังแล่หนังแล้วทิ้งไว้. ยางเหนียวก็ดี สาหร่ายก็ดี ยางไม้มีต้นกรรณิการ์เป็นต้นก็ดี เรียกว่า หฏะ. บทว่า กณํ แปลว่า รำข้าว. บทว่า อาจาโม ได้แก่ ข้าวตังที่ติดหม้อข้าว เดียรถีย์ทั้งหลายเก็บเอาข้าวตังนั้นในที่ที่เขาทิ้งไว้แล้วเคี้ยวกิน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า โอทนกญฺชิยํ ดังนี้บ้าง. งาป่น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 พ.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 479

เป็นต้น ก็ปรากฏชัดแล้วแล. บทว่า ปวตฺตผลโภชี ได้แก่ มีปกติบริโภคผลไม้ที่หล่นเอง. บทว่า ภุสาคารํ ได้แก่ โรงแกลบ.

บทว่า สีลวา ได้แก่ ประกอบด้วยปาริสุทธิศีล ๔. บทว่า ทุสฺสีลญฺจสฺส ปหีนํ โหติ ความว่า ทุศีล ๕ เป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว. บทว่า สมฺมาทิฏฺิโก ได้แก่ เป็นผู้มีทิฏฐิ (ความเห็น) ตามความเป็นจริง. บทว่า มิจฺฉาทิฏฺิ ได้แก่ เป็นผู้มีทิฏฐิไม่เป็นไปตามความเป็นจริง. บทว่า อาสวา ได้แก่ อาสวะ ๔. บทว่า อคฺคปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงยอดศีล. บทว่า สารปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงสีลสาระ (แก่นคือศีล). บทว่า สุทฺโธ แปลว่า บริสุทธิ์. บทว่า สาเร ปติฏฺิโต ได้แก่ ตั้งมั่นอยู่ในสารธรรม คือ ศีลสมาธิ และปัญญา.

บทว่า เสยฺยถาปิห เท่ากับ ยถา นาม (ชื่อฉันใด). บทว่า สมฺปนฺนํ คือ บริบูรณ์ ได้แก่ เต็มด้วยข้าวสาลีสุก. บทว่า สํฆราเปยฺย ได้แก่ ชาวนาพึงให้ขนมา. บทว่า อุพฺพหาเปยฺย ได้แก่ พึงให้นำมาสู่ลาน. บทว่า ภุสิกํ แปลว่า แกลบ. บทว่า โกฏฺฏาเปยฺย ได้แก่ พึงให้เทลงไปในครก แล้วเอาสากตำ. บทว่า อคฺคปฺปตฺตานิ ได้แก่ (ธัญชาติทั้งหลาย) ถึงความเป็นข้าวงาม. แม้ในบทว่า สารปฺปตฺตานิ เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล. ส่วนบทที่เหลือมีความหมายง่ายทั้งนั้น.

ส่วนคำใดที่ตรัสไว้ในสูตรนี้ว่า ความทุศีล ภิกษุนั้นละได้แล้ว และมิจฉาทิฏฐิ ภิกษุนั้นก็ละได้แล้ว ดังนี้ คำนั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความทุศีลและมิจฉาทิฏฐิ อันภิกษุละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค.

จบอรรถกถาวิวิตตสูตรที่ ๒