พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สรทสูตร ว่าด้วยการละสังโยชน์ ๓ ด้วยธรรมจักษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38726
อ่าน  388

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 480

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๓. สรทสูตร

ว่าด้วยการละสังโยชน์ ๓ ด้วยธรรมจักษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 480

๓. สรทสูตร

ว่าด้วยการละสังโยชน์ ๓ ด้วยธรรมจักษุ

[๕๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในหน้าสารท ท้องฟ้าแจ่ม ปราศจากเมฆ ดวงอาทิตย์ส่องฟ้าขจัดความมืดในอากาศสิ้น ทั้งสว่าง ทั้งสุกใส ทั้งรุ่งเรือง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมจักษุ (ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม) อันปราศจากธุลีไม่มีมลทิน (คือ กิเลส) เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พร้อมกับเกิดความเห็นขึ้นนั้น สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อริยสาวกย่อมละได้ ต่อไป เธอออกจากธรรมอีก ๒ ประการ คือ อภิชฌา และพยาบาท. เธอสงัดจากกาม ... จากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก. ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอริยสาวกทำกาลกิริยา (ตาย) ในสมัยนั้น สังโยชน์ซึ่งเป็นเหตุทำให้อริยสาวกผู้ติดอยู่มาสู่โลกนี้อีก ย่อมไม่มี ...

จบสรทสูตรที่ ๓

อรรถกถาสรทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสรทสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วิทฺเธ คือ ปลอดโปร่งเพราะปราศจากเมฆ. บทว่า เทเว คือ อากาศ. บทว่า อภิวิหจฺจ คือ กำจัด. บทว่า ยโต คือ ในกาลใด. บทว่า วิรชํ คือ ปราศจากธุลี มีธุลีคือราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะมลทินเหล่านั้นแล ปราศจากไปแล้ว. บทว่า ธมฺมจกฺขุํ ได้แก่ จักษุ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 481

คือ โสดาปัตติมรรค ซึ่งกำหนดธรรมคือสัจจะ ๔. บทว่า นตฺถิ ตํ สํโยชนํ ความว่า พระอริยสาวกนั้นไม่มีสังโยชน์ ๒ อย่างแล (อภิชฌา และพยาบาท). อนึ่ง ในสูตรนอกนี้ท่านกล่าวว่า ไม่มี ก็เพราะไม่สามารถจะนำมาสู่โลกนี้ได้อีก. แท้จริงในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงพระอนาคามี.

จบอรรถกถาสรทสูตรที่ ๓