พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปฐมอาชานียสูตร ว่าด้วยองค์ ๓ ของม้าต้นและของภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38728
อ่าน  389

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 485

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๕. ปฐมอาชานียสูตร

ว่าด้วยองค์๓ ของม้าต้นและของภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 485

๕. ปฐมอาชานียสูตร

ว่าด้วยองค์ ๓ ของม้าต้นและของภิกษุ

[๕๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น เท่ากับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว องค์ ๓ คืออะไร คือ สีงาม ๑ กำลังดี ๑ มีฝีเท้า ๑ ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น เท่ากับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว

ฉันเดียวกันนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ จึงเป็น (อาหุเนยฺโย) ผู้ควรของคำนับ (ปาหุเนยฺโย) ผู้ควรของต้อนรับ (ทกฺขิเณยฺโย) ผู้ควรของทำบุญ (อญฺชลิกรณีโย) ผู้ควรทำอัญชลี (อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส) เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า องค์ ๓ คืออะไร คือ วรรณะงาม ๑ เข้มแข็ง ๑ มีเชาว์ ๑

ภิกษุวรรณะงาม เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุวรรณะงาม

ภิกษุเข้มแข็ง เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม แข็งขันบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุเข้มแข็ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 486

ภิกษุมีเชาว์ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ทั่วถึงตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุมีเชาว์

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

จบปฐมอาชานียสูตรที่ ๕

อรรถกถาปฐมอาชานียสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาชานียสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า องฺเคหิ คือ ด้วยองค์คุณทั้งหลาย. บทว่า ราชารโห คือ (ม้าอาชาไนย) สมควร คือ เหมาะสมแก่พระราชา. บทว่า ราชโภคฺโค คือ เป็นม้าต้นของพระราชา. บทว่า รญฺโ องฺคํ ได้แก่ ถึงการนับว่าเป็นองคาพยพของพระราชา เพราะมีเท้าหน้าและเท้าหลังเป็นต้นสมส่วน. บทว่า วณฺณสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยสีร่างกาย. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ เพียบพร้อมด้วยพลังความเร็ว.

บทว่า อาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรรับบิณฑบาต กล่าวคือ ของที่เขานำมาบูชา. บทว่า ปาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควร (ที่จะรับ) ภัตรที่จัดไว้ต้อนรับแขก. บทว่า ทกฺขิเณยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่ทักษิณา กล่าวคือ ของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ด้วยอำนาจสละทานวัตถุ ๑๐ อย่าง. บทว่า อญฺชลิกรณีโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่การประคองอัญชลี. บทว่า อนุตฺตรํ ปุญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส ได้แก่ เป็นสถานที่งอกงามแห่งบุญของชาวโลกทั้งหมด ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 487

บทว่า วณฺณสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยวรรณะ คือ คุณ. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยพลังวิริยะ. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ เพียบพร้อมด้วยกำลังญาณ. บทว่า ถามวา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยกำลังแห่งญาณ. บทว่า ทฬฺหปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นมั่นคง. บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร ได้แก่ ไม่วางธุระ คือ ปฏิบัติไปด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราไม่บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศแล้ว จักไม่ทอดทิ้งธุระ คือ ความเพียร.

ในสูตรนี้ โสดาปัตติมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจสัจจะ ๔ และความเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความเร็วแห่งญาณ ตรัสไว้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรคแล.

จบอรรถกถาปฐมอาชานียสูตรที่ ๕