พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. นวสูตร ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ 3 ชนิด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38731
อ่าน  362

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 489

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๘. นวสูตร

ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ 3 ชนิด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 489

๘. นวสูตร

ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ ๓ ชนิด

[๕๓๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้าเปลือกไม้ แม้ใหม่ก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้กลางใหม่กลางเก่าก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้เก่าแล้วก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก ผ้าเปลือกไม้ที่คร่ำคร่าแล้ว เขาก็ทำเป็นผ้าเช็ดหม้อข้าวบ้าง ทิ้งเสียที่กองขยะบ้าง ฉันใด

ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้ทุศีลมีธรรมอันเลว เรากล่าวความทุศีลมีธรรมเลวนี้ ในความมีสีทรามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เหมือนผ้าเปลือกไม้มีสีทรามฉะนั้น

อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคม ทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคม ทำตามเยี่ยงอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอันไม่เกื้อกูลเกิดทุกข์นี้ ในความมีสัมผัสหยาบของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้าเปลือกไม้มีสัมผัสหยาบฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... ของชนเหล่าใด ข้อนั้นย่อมไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาถูกของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เป็นดังผ้าเปลือกไม้มีราคาถูกฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุเถระชนิดนั้น กล่าวอะไรในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็กล่าวเอาว่า ประโยชน์อะไรด้วยถ้อยคำของท่านผู้โง่เขลาอย่างท่าน ก็เผยอจะพูดด้วย ภิกษุเถระนั้นโกรธน้อยใจ ก็จะใช้ถ้อยคำชนิดที่เป็นเหตุให้สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม (คือ ห้าม ไม่ให้ติดต่อเกี่ยวข้องกับภิกษุทั้งหลาย) เหมือนเขาทิ้งผ้าเปลือกไม้เก่าเสียที่กองขยะฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 490

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้ากาสี แม้ใหม่ก็สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง แม้กลางใหม่กลางเก่าก็สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง แม้เก่าแล้วก็สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง ผ้ากาสีถึงคร่ำคร่าแล้ว เขายังใช้เป็นผ้าห่อรตนะ (คือ เงินทองเพชรพลอยอันมีค่า) บ้าง เก็บไว้ในคันธกรณฑ์ (หีบอบของหอม) บ้าง ฉันใด.

ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้มีศีลมีธรรมอันดี เรากล่าวความมีศีลมีธรรมดีนี้ ในความมีสีงามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เหมือนผ้ากาสีมีสีงามฉะนั้น

อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดประโยชน์สุขนี้ ในความมีสัมผัสนิ่มของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้ากาสีมีสัมผัสนิ่มฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย ... ของชนเหล่าใด ข้อนั้นย่อมเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาแพงของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เสมือนผ้ากาสีมีราคาแพงฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุเถระผู้มีคุณธรรมอย่างนี้ กล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็พากันว่า ท่านทั้งหลายจงสงบเสียงเถิด ภิกษุผู้ใหญ่จะกล่าวธรรมกล่าววินัยนี้ ดังนี้

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นอย่างผ้ากาสี จักไม่เป็นอย่างผ้าเปลือกไม้ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบนวสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 491

อรรถกถานวสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนวสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

ผ้าที่ตรัสว่า ใหม่ เพราะอาศัยการกระทำ. ผ้าที่ทำจากปอ ชื่อว่า โปตถกะ. ผ้าที่ชื่อว่า ปานกลาง ได้แก่ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่เพราะใช้. ผ้าที่ชื่อว่า เก่า ได้แก่ ผ้าเก่าเพราะใช้. บทว่า อุกฺขลิปริมชฺชนํ ได้แก่ เป็นผ้าเช็ดหม้อข้าว. บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ไม่มีศีล. บทว่า ทุพฺพณฺณตาย ได้แก่ เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณทราม เนื่องจากไม่มีสีล คือ คุณ. บทว่า ทิฏฺานุคตึ อาปชฺชนฺติ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายพากันทำตามอย่างที่ภิกษุนั้นทำไว้แล้ว. บทว่า น มหปฺผลํ โหติ ความว่า ไม่มีผลมาก โดยผล คือ วิบาก. บทว่า น มหานิสํสํ ความว่า ไม่มีอานิสงส์มาก โดยอานิสงส์ คือ วิบาก. บทว่า อปฺปคฺฆตาย ได้แก่ เพราะการรับนั้นมีค่าน้อย โดยค่า คือ วิบาก. บทว่า กาสิกํ วตฺถํ ได้แก่ ผ้าที่ทอโดยปั่นด้ายจากฝ้าย. ก็แล ผ้าชนิดนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในแคว้นกาสี.

บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น. ส่วนศีลในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ปนกันแล.

จบอรรถกถานวสูตรที่ ๘