พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยนิทานสูตร ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38744
อ่าน  428

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 522

ตติยปัณณาสก์

สัมโพธิวรรคที่ ๑

๑๐. ทุติยนิทานสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 522

๑๐. ทุติยนิทานสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม ๓ อย่าง

[๕๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม ต้นเหตุ ๓ คืออะไรบ้าง คือ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะ (ความรักใคร่ พอใจ) ที่เป็นอดีต ๑ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต ๑ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ๑

ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างไร? คือ บุคคลตรึกตรองไปถึงธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ล่วงไปแล้ว เมื่อตรึกตรองตามไป ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว เรากล่าวความติดใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ (เครื่องผูก) ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างนี้แล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 523

ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างไร? คือ บุคคลตรึกตรองไปถึงธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ยังไม่มาถึง เมื่อตรึกตรองตามไป ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว เรากล่าวความติดใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างนี้แล

ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างไร คือ บุคคลตรึกตรองถึงธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า เมื่อตรึกตรองตามไป ความพอใจก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้นผูกไว้แล้ว เรากล่าวความติดใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ นี้แล เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกรรม ต้นเหตุ ๓ คืออะไร คือ ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต ๑ ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต ๑ ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ๑

ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างไร? คือ บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ล่วงแล้ว ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับใจเสียจากเรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว คลายใจออก ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 524

ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีตอย่างนี้แล

ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างไร? คือ บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่ยังไม่มาถึง ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับใจเสียจากเรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว คลายใจออก ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคตอย่างนี้แล

ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างไร? คือ บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวของธรรมอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า ครั้นรู้ชัดซึ่งวิบากอันยืดยาวแล้ว กลับใจเสียจากเรื่องนั้น ครั้นกลับใจได้แล้ว คลายใจออก ก็เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ความพอใจไม่เกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบันอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย นี้ต้นเหตุ ๓ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม.

จบทุติยนิทานสูตรที่ ๑๐

จบสัมโพธิวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 525

อรรถกถาทุติยนิทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยนิทานสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า กมฺมานํ ได้แก่ กรรมที่เป็นวัฏฏคามีนั่นเอง. บทว่า ฉนฺทราคฏฺานิเย ความว่า เป็นเหตุแห่งฉันทราคะ. บทว่า อารพฺภ ได้แก่ อาศัย คือ หมายเอา เจาะจง. บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจแห่งตัณหา. บทว่า โย เจตโส สาราโค ความว่า ความกำหนัด ความยินดีแห่งจิต ความที่จิตกำหนัดแล้วอันใด ความกำหนัดแห่งจิตนี้ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นสังโยชน์ คือ เป็นเครื่องผูก.

พึงทราบวินิจฉัยในธรรมฝ่ายขาวดังต่อไปนี้ บทว่า กมฺมานํ ได้แก่ กรรมที่เป็นวิวัฏฏคามี (กรรมที่เลิกหมุนเวียน). บทว่า ตทภินิวตฺเตติ ความว่า ให้ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเป็นต้น และวิบากของธรรมนั้น หมุนกลับเฉพาะ คือว่า เมื่อใดเขารู้คือเข้าใจวิบากโดยเป็นที่ตั้ง (แห่งฉันทราคะเป็นต้น) เมื่อนั้นเขาจะยังธรรมเหล่านั้นด้วย วิบากนั้นด้วย ให้หมุนกลับเฉพาะ. อนึ่ง ด้วยบทนี้ พระองค์ตรัสวิปัสสนาไว้แล้ว. ด้วยบทว่า ตทภินิวฏฺเฏตฺวา นี้ ตรัสมรรคไว้. แต่ด้วยบทว่า เจตสา อภิวิราเชตฺวา นี้ ตรัสมรรคไว้อย่างเดียว. บทว่า ปญฺาย อติวิชฺฌ ปสฺสติ ความว่า เห็นทะลุปรุโปร่งด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา. ในทุกๆ บท พึงทราบความอย่างนี้ ก็ในพระสูตรนี้ ตรัสไว้ทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ ฉะนี้แล.

จบทุติยนิทานสูตรที่ ๑๐

จบสัมโพธิวรรควรรณนาที่ ๑

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 526

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุพพสูตร ๒. มนุสสสูตร ๓. อัสสาทสูตร ๔. สมณสูตร ๕. โรณสูตร ๖. อติตตสูตร ๗. ปฐมกูฏสูตร ๘. ทุติยกูฏสูตร ๙. ปฐมนิทานสูตร ๑๐. ทุติยนิทานสูตร และอรรถกถา.