พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อยสูตร ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38749
อ่าน  423

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 533

ตติยปัณณาสก์

อาปายิกวรรคที่ ๒

๕. อยสูตร

ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 533

๕. อยสูตร

ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓

[๕๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิบัติ (ความเสีย) ๓ นี้ วิบัติ ๓ คืออะไร คือ สีลวิบัติ (ความเสียทางศีล) จิตตวิบัติ (ความเสียทางจิต) ทิฏฐิวิบัติ (ความเสียทางทิฏฐิ)

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 534

สีลวิบัติ เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ เป็นคนมักทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มักพูดมุสาวาท ปิสุณาวาจา (คำส่อเสียด) ผรุสวาจา (คำหยาบ) สัมผัปปลาป (คำเหลวไหล) นี่เรียกว่า สีลวิบัติ

จิตตวิบัติ เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ เป็นคนมีอภิชฌา (เห็นแก่ได้) มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตวิบัติ

ทิฏฐิวิบัติ เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต (ผิดจากคลองธรรม) ว่า (๑) ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล (๔) ผลวิบากของกรรมดีและชั่วไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกอื่นไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ ไม่มีในโลก นี่เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ

สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหตุสีลวิบัติบ้าง เหตุจิตตวิบัติบ้าง เหตุทิฏฐิวิบัติบ้าง

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๓ นี้ สัมปทา ๓ คืออะไร คือ สีลสัมปทา จิตตสัมปทา ทิฏฐิสัมปทา

สีลสัมปทา เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาป นี้เรียกว่า สีลสัมปทา

จิตตสัมปทา เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ ไม่มีอภิชฌา ไม่มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตสัมปทา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 535

ทิฏฐิสัมปทา เป็นอย่างไร? คนลางคนในโลกนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า (๑) ทานมีผล (๒) การบูชามีผล (๓) การบวงสรวงมีผล (๔) ผลวิบากของกรรมดีและชั่วมี (๕) โลกนี้มี (๖) โลกอื่นมี (๗) มารดามี (๘) บิดามี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบ ที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ มีอยู่ในโลก นี่เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา

สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหตุสีลสัมปทาบ้าง เหตุจิตตสัมปทาบ้าง เหตุทิฏฐิสัมปทาบ้าง

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓.

จบอยสูตรที่ ๕

อรรถกถาอยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอยสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สีลวิปตฺติ ได้แก่ อาการที่ศีลวิบัติ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ. ด้วยบทว่า นตฺถิ ทินฺนํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความที่ทานที่ให้แล้วไม่มีผล. การบูชาใหญ่ เรียกว่า ยิฏะ. ลาภสักการะที่เพียงพอ ทรงประสงค์เอาว่า หุตะ. มิจฉาทิฏฐิบุคคล ห้าม ยิฏะ และหุตะ ทั้งสองนั้นว่า ไม่มีผลเลย. บทว่า สุกฏทุกฺกฏานํ ได้แก่ กรรมที่ทำดีและทำชั่ว อธิบายว่า ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม. ด้วยบทว่า ผลํ วิปาโก มิจฉาทิฏฐิบุคคลกล่าวสิ่งที่เรียกว่าผลหรือวิบากว่า ไม่มี.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 536

บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก ความว่า โลกนี้ไม่มีสำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในโลกหน้า. บทว่า นตฺถิ ปโร โลโก ความว่า โลกหน้าไม่มีแม้สำหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้. มิจฉาทิฏฐิบุคคลแสดงว่า สัตว์ทั้งหมด (ตายแล้ว) ย่อมขาดสูญในโลกนั้นๆ นั่นเอง. ด้วยบทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา มิจฉาทิฏฐิบุคคลกล่าวโดยสามารถแห่งการปฏิบัติชอบและการปฏิบัติผิดในมารดาบิดาเหล่านั้นว่า ไม่มีผล. บทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา ความว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ที่จะจุติแล้วเกิด ไม่มี. ความบริบูรณ์ ชื่อว่า สมฺปทา ความที่ศีลบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ชื่อว่า สีลสัมปทา. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อตฺถิ ทินฺนํ เป็นต้น นักศึกษาพึงถือเอาโดยนัยที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.

จบอรรถกถาอยสูตรที่ ๕