พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. โมเนยยสูตร ว่าด้วยความเป็นมุนี ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38754
อ่าน  383

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 542

ตติยปัณณาสก์

อาปายิกวรรคที่ ๒

๑๐. โมเนยยสูตร

ว่าด้วยความเป็นมุนี๓ อย่าง


จบอาปายิกวรรคที่ ๒


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 542

๑๐. โมเนยยสูตร

ว่าด้วยความเป็นมุนี ๓ อย่าง

[๕๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมไนยะ (ความเป็นมุนี คือ นักปราชญ์) ๓ นี้ โมไนยะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ กายโมไนยะ (ความเป็นปราชญ์ทางกาย) วจีโมไนยะ (ความเป็นปราชญ์ทางวาจา) มโนโมไนยะ (ความเป็นปราชญ์ทางใจ)

กายโมไนยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากอพรหมจรรย์ นี้เรียกว่า กายโมไนยะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 543

วจีโมไนยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากมุสาวาท เว้นจากปิสุณาวาจา เว้นจากผรุสวาจา เว้นจากสัมผัปปลาป นี้เรียกว่า วจีโมไนยะ

มโนโมไนยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่ นี้เรียกว่า มโนโมไนยะ

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย โมไนยะ ๓.

นิคมคาถา

บุคคลผู้เป็นปราชญ์ทางกาย เป็นปราชญ์ทางวาจา เป็นปราชญ์ทางใจ หาอาสวะมิได้ เป็นปราชญ์พร้อมด้วยคุณธรรมของปราชญ์ บัณฑิตกล่าวบุคคลนั้นว่า ผู้ละบาปหมด.

จบโมเนยยสูตรที่ ๑๐

จบอาปายิกวรรคที่ ๑

อรรถกถาโมเนยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโมเนยยสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

ความเป็นมุนี ชื่อว่า โมเนยยะ. ความเป็นมุนี คือ ความเป็นสาธุชน ได้แก่ ความเป็นบัณฑิตในกายทวาร ชื่อว่า กายโมเนยยะ. แม้ในบททั้งสองที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว กายโมเนยฺยํ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 544

ความว่า จริงอยู่ การละกายทุจริต ๓ อย่างนี้ ชื่อว่า กายโมเนยยะ. อนึ่ง แม้กายสุจริต ๓ อย่าง ก็ชื่อว่ากายโมเนยยะ. ญาณที่มีกายเป็นอารมณ์ ก็ชื่อว่า กายโมเนยยะเหมือนกัน. การกำหนดรู้กาย ก็ชื่อว่า กายโมเนยยะ. มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา ก็ชื่อว่า กายโมเนยยะ. การละฉันทราคะทางกาย ก็ชื่อว่า กายโมเนยยะ. การดับกายสังขาร และการเข้าจตุตถฌาน ก็ชื่อว่า กายโมเนยยะ แม้ในวจีโมเนยยะ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

ส่วนในวจีโมเนยยะ และมโนโมเนยยะ นี้ มีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้ ในที่นั้น พึงทราบการเข้าทุติยฌาน คือ การดับวจีสังขารว่า ชื่อว่า วจีโมเนยยะ เหมือนการเข้าจตุตถฌานในที่นี้. ครั้นทราบเนื้อความในมโนโมเนยยะโดยนัยแม้นี้แล้ว ก็ควรทราบการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ การดับจิตสังขารว่า ชื่อว่า มโนโมเนยยะ.

บทว่า กายมุนึ ได้แก่ ผู้รู้ คือ ผู้สูงสุด ได้แก่ ผู้บริสุทธิ์ในกายทวาร หรือผู้รู้ทางกาย. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สพฺพปฺปหายินํ ได้แก่ พระขีณาสพ. เพราะว่าพระขีณาสพ ชื่อว่าสัพพปหายี (ผู้ละได้ทั้งหมด) ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาโมเนยยสูตรที่ ๑๐

จบอาปายิกวรรควรรณนาที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาปายิกสูตร ๒. ทุลลภสูตร ๓. อัปปเมยยสูตร ๔. อาเนญชสูตร ๕. อยสูตร ๖. อปัณณกสูตร ๗. กัมมันตสูตร ๘. ปฐมโสเจยยสูตร ๙. ทุติยโสเจยยสูตร ๑๐. โมเนยยสูตร และอรรถกถา.