พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. กุสินารสูตร ว่าด้วยบิณฑบาตที่มีผลมาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38755
อ่าน  329

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 545

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๑. กุสินารสูตร

ว่าด้วยบิณฑบาตที่มีผลมาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 545

กุสินารวรรคที่ ๓

๑. กุสินารสูตร

ว่าด้วยบิณฑบาตที่มีผลมาก

[๕๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ราวป่า ชื่อพลิหรณะ ใกล้พระนครกุสินารา ฯลฯ ตรัสพระธรรมเทศนาว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยหมู่บ้าน หรือตำบลแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุนั้น นิมนต์รับอาหารเช้า ภิกษุจำนงอยู่รับนิมนต์ เมื่อล่วงราตรีนั้น เวลาเช้าเธอครองสบงแล้ว ถือบาตรและจีวรไปเรือนของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถึงแล้วนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดไว้ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอังคาสเธอด้วยขาทนียะ (ของเคี้ยว) โภชนียะ (ของกิน) อันประณีตด้วยมือตน จนอิ่มหนำพอเพียง เธอนึกชมว่า ดีจริง คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ เลี้ยงเราด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตด้วยมือตน จนอิ่มหนำพอเพียง นึกหวังต่อไปว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ แม้ต่อไป พึงเลี้ยงเราด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตอย่างนี้ด้วยมือตน จนอิ่มหนำพอเพียงเถิด เธอติดใจหมกมุ่นพัวพัน ไม่เห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่มีปัญญาสลัดออก ฉันบิณฑบาตนั้น เธอตรึกกามวิตกบ้าง ตรึกพยาบาทวิตกบ้าง ตรึกวิหิงสาวิตกบ้าง ณ อาสนะที่นั่งฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ให้แก่ภิกษุชนิดนี้ เราหากล่าวว่ามีผลมากไม่ เพราะเหตุอะไร เพราะภิกษุเป็นผู้มัวเมาอยู่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 546

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยหมู่บ้าน หรือตำบลแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุนั้น นิมนต์รับอาหารเช้า ฯลฯ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอังคาสเธอด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตด้วยมือตน จนอิ่มหนำพอเพียง เธอไม่นึกชมว่า ดีจริง ฯลฯ จนอิ่มหนำพอเพียง ไม่นึกหวังต่อไปว่า โอหนอ ฯลฯ จนอิ่มหนำพอเพียงเถิด เธอไม่ติดใจหมกมุ่นพัวพัน เห็นส่วนที่เป็นโทษ มีปัญญาสลัดออกได้ ฉันบิณฑบาตนั้น เธอตรึกเนกขัมมวิตก (ตรึกในทางพรากจากกาม) บ้าง อพยาบาทวิตก (ตรึกในทางไม่พยาบาท) บ้าง อวิหิงสาวิตก (ตรึกในทางไม่เบียดเบียน) บ้าง ณ อาสนะที่นั่งฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ให้แก่ภิกษุเช่นนี้ เรากล่าวว่ามีผลมาก เพราะเหตุอะไร เพราะภิกษุเป็นผู้ไม่มัวเมาอยู่.

จบกุสินารสูตรที่ ๑

กุสินารวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถากุสินารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกุสินารสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กุสินารยํ ได้แก่ ในพระนครที่มีชื่ออย่างนี้. บทว่า พลิหรเณ วนสณฺเฑ ได้แก่ ในไพรสณฑ์ที่มีชื่ออย่างนี้. ได้ยินว่า คนทั้งหลายนำพลีกรรมไป เพื่อทำพลีกรรมแก่ภูตที่ไพรสณฑ์นั้น เพราะฉะนั้น ไพรสณฑ์นั้นชนทั้งหลายจึงเรียกว่า พลิหรณะ. บทว่า อากงฺขมาโน ได้แก่ ปรารถนาอยู่. บทว่า สหตฺถา ได้แก่ ด้วยมือของตน. บทว่า สมฺปวาเรติ ความว่า ห้ามด้วยวาจาว่า พอแล้ว พอแล้ว และด้วยการไหวมือ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 547

บทว่า สาธุ วต มายํ ความว่า ดีจริงหนอ (คหบดีหรือบุตรแห่งคหบดี) นี้ เลี้ยงเราให้อิ่มหนำสำราญ. บทว่า คธิโต ความว่า ติดใจด้วยความยินดีด้วยอำนาจตัณหา. บทว่า มุจฺฉิโต ได้แก่ สยบแล้ว ด้วยความสยบด้วยอำนาจแห่งตัณหานั่นเอง. บทว่า อชฺโฌปนฺโน ความว่า กลืนลงไปให้เสร็จสิ้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา. บทว่า อนิสฺสรณปญฺโ ความว่า ภิกษุผู้ละฉันทราคะแล้ว ฉันภัตโดยฉุดตนออกจากความติดในรส จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ภิกษุนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เธอยังมีฉันทราคะอยู่ ฉันอาหาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนิสฺสรณปญฺโ (ผู้ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก). ธรรมฝ่ายขาว บัณฑิตพึงทราบโดยผิดจากปริยายดังกล่าวแล้ว. อนึ่ง ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า พระองค์ตรัสเนกขัมมวิตกเป็นต้นคละกันไป ฉะนี้แล.

จบอรรถกถากุสินารสูตรที่ ๑