พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ภัณฑนสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งความบาดหมาง ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38756
อ่าน  345

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 547

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๒. ภัณฑนสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งความบาดหมาง ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 547

๒. ภัณฑนสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งความบาดหมาง ๓ อย่าง

[๕๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในทิศใด เกิดแก่งแย่งทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก แม้แต่นึกถึงทิศนั้น ก็ไม่เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวไปถึงการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า เธอเหล่านั้นละทิ้งธรรม ๓ ประการ มัวประกอบธรรม ๓ ประการ ละทิ้งธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก มัวประกอบธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุเกิดแก่งแย่งทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกัน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 548

ด้วยหอกคือปาก แม้แต่นึกถึงทิศนั้น ก็ไม่เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวไปถึงในการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า เธอเหล่านั้นละทิ้งธรรม ๓ ประการนี้ มัวประกอบธรรม ๓ ประการนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือ สายตาของคนที่รักใคร่กัน) แม้เราไปทางทิศนั้น ก็เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวเพียงนึกในการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า เธอเหล่านั้นละธรรม ๓ ประการเสียได้ ประกอบธรรม ๓ ประการอยู่มาก ละธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ประกอบธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก ภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ แม้เราไปทางทิศนั้น ก็เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวเพียงนึกในการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า เธอเหล่านั้นละธรรม ๓ ประการนี้เสียได้ ประกอบธรรม ๓ ประการนี้อยู่มาก.

จบภัณฑนสูตรที่ ๒

อรรถกถาภัณฑนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภัณฑนสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปชหึสุ แปลว่า ย่อมละได้. บทว่า พหุลมกํสุ ได้แก่ กระทำบ่อยๆ. แม้ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิตก ๓ แม้เหล่านี้คละกันไป.

จบอรรถกถาภัณฑสูตรที่ ๒