พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ทุติยอนุรุทธสูตร ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38762
อ่าน  386

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 565

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๘. ทุติยอนุรุทธสูตร

ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 565

๘. ทุติยอนุรุทธสูตร

ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร

[๕๗๐] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ก็ชื่นชมกับท่านพระสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความชื่นบานต่อกัน เป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร ข้าพเจ้า (อยู่) ในที่นี้ ตรวจดูสหัสสโลก (๑,๐๐๐ โลก) ได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า.

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส อนุรุทธะ ข้อที่ท่านว่า ข้าพเจ้าตรวจดูสหัสสโลกได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ นี้เป็นเพราะมานะ ข้อที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นี้เป็นเพราะอุทธัจจะ ข้อที่ว่า เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า นี้เป็นเพราะกุกกุจจะ ทางที่ดีนะ ท่านอนุรุทธะจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย อย่าใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (ธาตุไม่ตาย คือ พระนิพพาน) เถิด.

ภายหลัง ท่านอนุรุทธะก็ละธรรม ๓ ประการนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ อยู่มาท่านหลีกจากหมู่ อยู่คนเดียว ไม่ประมาท ทำความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ไม่ช้าเลย กุลบุตรทั้งหลายออก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 566

จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการเพื่อประโยชน์อันใด ท่านก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันนั้น ซึ่งเป็นคุณที่สุดแห่งพรหมจรรย์อย่างเยี่ยมยอด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนั่น ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่น (ที่จะต้องทำ) เพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว.

จบทุติยอนุรุทธสูตรที่ ๘

อรรถกถาทุติยอนุรุทธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอนุรุทธสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อิทนฺเต มานสฺมึ ความว่า นี้เป็นมานะอันเจริญแล้วโดยส่วน ๙ ของท่าน. บทว่า อิทนฺเต อุทฺธจฺจสฺมึ ความว่า นี้เป็นความฟุ้งซ่านของท่าน คือ ความที่จิตของท่านฟุ้งซ่าน. บทว่า อิทนฺเต กุกฺกุจฺจสฺมึ ความว่า นี้เป็นความรำคาญของท่าน.

จบอรรถกถาทุติยอนุรุทธสูตรที่ ๘