พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. เลขสูตร ว่าด้วยบุคคล ๓ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38764
อ่าน  405

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 568

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๑๐. เลขสูตร

ว่าด้วยบุคคล ๓ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 568

๑๐. เลขสูตร

ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวก

[๕๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร คือ บุคคลเหมือนรอยขีดในหิน บุคคลเหมือนรอยขีดในดิน บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ

บุคคลเหมือนรอยขีดในหิน เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นติดกรุ่นในใจไปนานๆ เหมือนรอยขีดในหิน ย่อมไม่ลบง่ายๆ ด้วยลมพัดหรือน้ำเซาะ ย่อมติดอยู่นาน ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นติดกรุ่นอยู่ในใจไปนานๆ ฉันนั้น นี่เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในหิน

บุคคลเหมือนรอยขีดในดิน เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่ติดกรุ่นอยู่ในใจนาน เหมือนรอยขีดในดิน ย่อมลบง่ายด้วยลมพัดหรือน้ำเซาะ หาติดอยู่นานไม่ ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่ติดกรุ่นอยู่ในใจนาน ฉันนั้น นี่เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในดิน

บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกว่าแม้ด้วยคำเลว คำหยาบ คำไม่เจริญใจ ก็ยังสมานไว้ได้ ยังประสานไว้ได้ ยังพูดจาดีอยู่ได้ เหมือนรอยขีดในน้ำ ย่อมพลันหาย ไม่ติดอยู่นานเลย ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกว่าแม้ด้วยคำเลว คำหยาบ คำไม่เจริญใจ ก็ยังสมานไว้ได้ ยังประสานไว้ได้ ยังพูดจาดีอยู่ได้ ฉันนั้น นี่เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.

จบเลขสูตรที่ ๑๐

จบกุสินารวรรคที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 569

อรรถกถาเลขสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเลขสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อภิณฺหํ ความว่า เนืองนิตย์ คือ ชั่วนิรันดร. บทว่า อคาฬฺเหน ความว่า ด้วยคำหนักๆ คือ คำกักขฬะ. บทว่า ผรุเสน ความว่า ด้วยคำหยาบคาย อธิบายว่า แม้ถูกต่อว่าอย่างหนักๆ อย่างหยาบๆ ดังนี้. บทว่า อมนาเปน ความว่า ด้วยคำที่ไม่ชื่นใจ คือ ไม่เจริญใจ. บทว่า สนฺธิยติเยว ความว่า ยังสมานไว้ได้. บทว่า สํสนฺทติเยว ความว่า ยังเป็นเช่นเดิมนั่นเอง. บทว่า สมฺโมทติเยว ความว่า ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาเลขสูตรที่ ๑๐

จบกุสินารวรรควรรณนาที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุสินารสูตร ๒. ภัณฑนสูตร ๓. โคตมสูตร ๔. ภรัณฑุสูตร ๕. หัตถกสูตร ๖. กฏุวิยสูตร ๗. ปฐมอนุรุทธสูตร ๘. ทุติยอนุรุทธสูตร ๙. ปฏิจฉันนสูตร ๑๐. เลขสูตร และอรรถกถา.